เคยได้ยินชื่อของเกาะฮาชิม่าหรือเกาะเรือรบมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องผีหรือเรื่องอาถรรพ์ ส่วนเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์จริง ๆ เรายังไม่เคยได้เข้าไปทำความรู้จักกับมันสักที จนกระทั่งมีหนังเรื่อง The Battleship Island เรื่องนี้
The Battleship Island เป็นหนังฟอร์มยักษ์ใหญ่ ทุนสร้างสูงสุดในเกาหลีใต้ ซีจีระเบิดอาจไม่เนียนกริบเท่าฮอลลีวู้ด แต่ถือว่าออกมาดีเกินมาตรฐานหนังเอเชีย โดยรวมโปรดักชั่นในหนังถือว่าทำออกมาดีเลิศเลอสมราคา มีความสมจริง
ปกติเรามักประสบปัญหาในการจำชื่อและหน้าของคนเกาหลีอยู่แล้ว ยิ่งมาเป็นหนังอิงประวัติศาสตร์เกาหลีที่เราไม่มีแบ็คกราวนด์ความรู้ด้านนี้เลย ช่วงแรก ๆ เราก็เลยยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ประกอบกับหนังเขาตัดต่อแปลก ๆ ด้วยนิดนึง แต่ดู ๆ ไป มันก็พอจะไหลตามน้ำได้อยู่ และก็ไม่รู้สึกเบื่อเลยสักนาที
เรื่องราวเกิดขึ้นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลียังอยู่ภายใต้ญี่ปุ่น คนเกาหลีจำนวนมากถูกส่งไปใช้แรงงานเยี่ยงทาสบนเกาะ Hashima ซึ่งอยู่ห่างจาก Nagasaki ประมาณ 15 กิโลเมตร และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมถ่านหินสำคัญของญี่ปุ่น (ตอนนี้เราเข้าใจว่าเจ้าของเกาะ ณ ตอนนั้นคือมิตซูบิชิ)
หนังมีซุป’ตาร์เกาหลีชื่อดังหลายคนร่วมแสดงเป็นตัวละครหลัก ๆ ของฝั่งนักโทษเกาหลี ได้แก่…
- กลุ่มวงดนตรี นำโดย Lee Gang-ok (Jung-min Hwang จาก Veteran) กับลูกสาวตัวน้อย Sohee (Su-an Kim จาก Train to Busan) ที่ถูกหลอกให้มาที่ค่ายนรกนี้… คู่นี้แสดงดีเว่อร์
- กลุ่มนักเลงขาบู๊ นำโดย Choi Chil-sung (Ji-seob So จาก Always) และ Mallyon (Jung-hyun Lee) หญิงสาวที่ถูกจับมาบำเรอทหาร… คู่นี้มีความละมุน ดูแล้วจิ้นเบา ๆ
- Park Mu-young (Joong-ki Song จาก Descendants of the Sun) สายลับที่ถูกส่งมาทำภารกิจพาตัว Yoon Hak-chul (Lee Kyoung-young) ออกจากเกาะ… ซึ่ง Joong-ki Song หล่อละลายและเท่มาก ไม่ต้องพูดเยอะ
สิ่งที่คนดูชาวไทยต้องทำใจล่วงหน้าก่อนเข้าไปดูคือ หนังมีความปลุกใจ รักชาติ (เกาหลี) หรือชาตินิยมค่อนข้างเด่นชัด และชาติญี่ปุ่นจะดูเป็นตัวร้ายเหี้ยม ๆ ไปเลย (อารมณ์ประมาณ เกาหลี = ยิว และ ญี่ปุ่น = นาซี)
เราก็ยังไม่รู้นะว่า เรื่องราวที่หนังเล่ามันจริงแท้แค่ไหน หนังมีการปรุงแต่งสตอรี่มากน้อยอย่างไร คือเกาหลีอาจทำหนังเข้าข้างตัวเองและใส่ร้ายเพื่อนบ้านมากเกินไปก็ได้
แต่ในฐานะคนดูทั่วไป เราก็ดูอย่างใช้สติและวิจารณญาณไป อย่าอินเกิน อย่าเชื่อหนัง 100% จนพาลเกลียดญี่ปุ่นไปก่อนละกัน หากแต่จงใช้ความรู้สึกนี้ผลักดันตัวเราให้ออกไปรีเซิชหรือศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้จากหลาย ๆ แหล่ง มันจักเป็นประโยชน์และเปิดโลกของเราได้
สำหรับคอหนังแอ็คชั่นสงคราม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบ Dunkirk หรือไม่ชอบ Dunkirk เราว่าน่าจะไม่ผิดหวังกับองก์สุดท้ายของหนัง ซึ่งเป็นช่วงที่ Joong-ki Song ต้องพานักโทษเกาหลีกว่า 400 คนแหกคุกออกจากเกาะนี้ละ สำหรับเรา เราว่าช่วงแหกคุกช่วงท้ายเป็นซีน epic ซีนหนึ่งเลย
หนังก็ตอบโจทย์ในแง่ความบันเทิง และมันก็แฝงข้อคิดเรื่องการรวมใจเป็นหนึ่ง ไม่แตกคอกันเอง และสามัคคีปรองดองกัน คนชอบหนังบู๊ดูสนุกแน่นอน เพราะนอกจากช่วงแหกคุกตอนจบแล้ว ก็มีอีกหลายฉากที่สนุก เช่น ฉากต่อสู้ในผ้าเตี่ยวหรือฉากเหมืองระเบิด ฯลฯ ส่วนการขยี้ดราม่า เพิ่มความเจ็บปวดสะเทือนใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป ต้องมีแน่นอนอยู่แล้ว เพราะนี่เป็นงานถนัดของพี่เกาหลีเค้าเลย ซึ่งถ้าใครจะไม่อิน เราเข้าใจ แต่เอาเป็นว่า เราอิน
ถ้ารับได้กับความชาตินิยมและทนกับการตัดต่อที่งง ๆ ในบางจุดได้ เราว่า The Battleship Island ก็เป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่ง อย่างน้อย สำหรับเรา เราว่ามันก็ดีที่สุดสำหรับหนังใหม่ที่เข้าสัปดาห์เดียวกันนี้ (เข้าฉาย 3 ส.ค. 2017) แต่ยังไม่ชอบมากเท่า Train to Busan
คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8/10 (คะแนนส่วนใหญ่เทมาจากช่วงสุดท้ายของเรื่องนั่นแล)
44 comments
Comments are closed.