สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำ Hollywood เพิ่งประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 72 ไปหมาดๆ (คลิกรายละเอียด Golden Globe Awards nominations 2015: the full list) ผลออกมาคือ The Grand Budapest Hotel ได้เข้าชิงถึง 4 สาขา และล้วนเป็นสาขาใหญ่ๆ ทั้งนั้น ได้แก่
- สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในประเภทตลก/เพลง (Best film, comedy or musical)
- สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในประเภทตลก/เพลง (Best actor, comedy or musical)
- สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best screenplay)
- สาขาผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม (Best director)
*UPDATE ล่าสุด 11 ม.ค. (ตามเวลาประเทศ USA) The Grand Budapest Hotel ได้รางวัลลูกโลกทองคำ สาขาหนังตลกยอดเยี่ยมเอาชนะ Into the Woods กับ Birdman ไปแบบเก๋ๆ
ส่วนเวทีออสการ์ ก็เข้าชิง 9 สาขา และคว้ารางวัล 4 สาขา (เป็นจำนวนรางวัลสูงสุด ประจำปี 2015 เทียบเท่า Birdman)
- Best Picture
- Best Cinematography
- Best Director
- Best Original Screenplay
- Best Makeup and Hairstyling (ได้รางวัล!)
- Best Original Score (ได้รางวัล!)
- Best Costume Design (ได้รางวัล!)
- Best Film Editing
- Best Production Design (ได้รางวัล!)
แหม จากรางวัลอสการ์ 4 ตัวที่ได้ ก็การันตีได้แล้วว่า The Grand Budapest Hotel นี่งานละเอียด งานบรรจง และน่าดูชมจริงๆ!
เราต้องสารภาพตามตรงว่า The Grand Budapest Hotel (ชื่อไทย: คดีพิสดารโรงแรมแกรนด์บูดาเปสต์) เป็นหนังที่เราไม่รู้มาก่อนเลยว่ามันเคยมาฉายแล้วที่บ้านเราด้วย เพราะหนังเรื่องนี้มาเข้าฉายที่ไทยประมาณเดือน ก.ค. 2014 และเข้าฉายแบบจำกัดโรงจำกัดรอบมากๆ ทั้งๆ ที่ The Grand Budapest Hotel ก็ไม่ใช่หนังอินดี้ซะทีเดียว ตรงกันข้าม ออกจะเป็นหนังดีที่ดูง่าย ดูเพลิน ตลก และสนุกกว่าหนัง comedy หลายเรื่องที่ได้เข้าฉายในโรงปกติเสียด้วยซ้ำ
เรื่องย่อ The Grand Budapest Hotel
ยอมรับว่าในช่วง 5 นาทีแรกของหนัง เราแอบสับสนกับตัวละครเล็กน้อย เพราะชื่อตัวละครเป็นภาษาเยอรมัน (หรือฝรั่งเศส? – -) ที่เราไม่คุ้นเคย และยังเปิดเรื่องด้วยการให้คนมาเล่าเรื่องซ้อนไปซ้อนมาหลายชั้น
- เริ่มจาก ชั้นแรกเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งกำลังอ่านหนังสือของนักเขียนคนหนึ่ง ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์หรือสุสานของเขา โดยในหนังสือ คนเขียนเริ่มเล่าเรื่องจากบนโต๊ะทำงานของเขาในปี 1985 และทริปที่ไปโรงแรม Grand Budapest ในปี 1968
- ชั้นที่สอง จึงเป็นชั้นปี 1985 ที่คนเล่าเรื่องเป็นนักเขียนคนนั้น (Tom Wilkinson) และกำลังเล่าแรงบันดาลใจและที่มาที่ไปในการเขียนหนังสือเล่มนี้
- ชั้นต่อมา เกิดช่วงปี 1968 เป็นชั้นที่ชายชราเจ้าของโรงแรมคนปัจจุบัน (F. Murray Abraham) เล่าเรื่องราวที่แสนพิสดารในยุค Renaissance ของโรงแรมแห่งนี้ให้กับคุณนักเขียนท่านตะกี้ (Jude Law หรือ คุณหมอ Watson จาก Sherlock Holmes)
- ชั้นสุดท้าย เป็นฉากที่ย้อนอดีตไปในปี 1932 (ซึ่งเป็นช่วง Nazi พอดี) ที่เจ้าของโรงแรมยังเป็นหนุ่มน้อย Lobby Boy และหนังก็เริ่มถ่ายทอดเรื่องราวความรัก มิตรภาพ การไล่ล่า และศิลปะอันงดงามที่เกิดขึ้นที่นี่
ในปี 1932 Monsieur Gustave H. (Ralph Fiennes หรือ Lord Voldemort จาก Harry Potter) พนักงานต้อนรับ (หรือ concierge) แห่ง the Grand Budapest ได้รับ Zero Moustafa (Tony Revolori) ชายหนุ่มผู้ลี้ภัยสงครามมาจากตะวันออกกลาง เข้ามาทำงานเป็น “Lobby Boy” ส่วนเจ้าของโรงแรมนั้น ตามท้องเรื่อง เขาเป็นใครก็ไม่รู้ คือเจ้าของเขาจะส่งสารสำคัญต่างๆ ผ่านมากับผู้แทนหรือทนาย Kovacs (Jeff Goldblum จาก Jurassic Park และ ID4) เท่านั้น
ความโกลาหลเกิดขึ้นเมื่อ Madame Céline Villeneuve “Madame D” Desgoffe und Taxis (Tilda Swinton หรือแม่มดขาวจาก The Chronicles of Narnia) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิ๊กของ Gustave เสียชีวิตลงอย่างเป็นปริศนา Gustave พร้อมกับ Zero จึงเดินทางไปคฤหาสน์ของ Madame D เพื่อฟังพินัยกรรม ซึ่งบังเอิญทนาย Kovacs ก็เป็นผู้จัดการมรดกของตระกูลนี้ด้วย
ในพินัยกรรม Madame D ได้ยกภาพวาด “Boy with Apple“ (ตามท้องเรื่องในหนัง ภาพนี้วาดโดย Johannes Van Hoytl The Younger แต่จริงๆ ศิลปินชาวอังกฤษ Michael Taylor เป็นคนวาดขึ้น เพื่อใช้ในหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ) ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลให้กับ Gustave ทำให้ Dmitri Desgoffe und Taxis (Adrien Brody) ลูกชายของมาดามไม่พอใจและไล่ Gustave ออกไป แต่ก่อนออกไป Gustave และ Zero ได้แอบขโมยรูปภาพนั้นกลับออกมาด้วยและเอาไปซ่อนไว้ในเซฟโรงแรม
Gustave ถูกจับเข้าคุกข้อหาฆาตกรรม Madame D จากคำให้การของ Serge X (Mathieu Amalric) หัวหน้าพ่อบ้านของ Madame D แต่สุดท้าย Zero กับ Agatha (Saoirse Ronan จาก Atonement) คู่หมั้นสาวสวยของ Zero ก็ช่วยพา Gustave แหกคุกออกมาได้ (เหมือนการแหกคุกใน The Shawshank Redemption และซีรีส์ Prison Break เลย) และพยายามพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ถูก J.G. Jopling (Willem Dafoe หรือ Green Goblin จาก Spider-Man) นักฆ่าโรคจิตของ Dmitri ตามไล่ฆ่าด้วย (ฉากไล่ล่าในภูเขาสูงที่เต็มไปด้วยหิมะ ทำให้เรานึกถึง Inception แต่เรื่องนี้ออกแบบฉากสวยกว่า)
รีวิว/วิจารณ์ The Grand Budapest Hotel
The Grand Budapest Hotel อาจไม่ใช่หนังตลกโปกฮาในแบบที่สาดมุกตลาดล่าง มุกระดับแมส หรือใส่ซาวนด์ประกอบล้นๆ เหมือนหนังตลกทั่วไปในท้องตลาด แต่เป็นหนังตลกร้ายหน้าตายที่จังหวะลงตัวอย่างคลาสสิค ประกอบกับแอ็คติ้งที่พอดีพองามของนักแสดง ไม่เยอะไป ไม่น้อยไป เป็นอีกหนึ่งสูตรสำเร็จที่เรียกว่า “Less is more. (น้อยแต่มาก)” อย่างแท้จริง
จุดเด่นของ The Grand Budapest Hotel ก็คือภาพที่สีที่เหมือน “ลูกกวาด” นวลๆ การจัดองค์ประกอบภาพที่ “สมมาตร” กันแทบทุกฉาก และการจัดมุมกล้องแบบ “90 องศา” ขวับๆ อย่างเป๊ะ (ไม่เชื่อลองสังเกตในเทรลเลอร์ได้) ซึ่งทำให้ทุกซีนมีความเฉพาะและสวยงามชนิดที่สามารถกดแคปหน้าจอแล้วอัพโหลดลง instagram ได้เลยทันทีโดยไม่ต้องใส่ฟิลเตอร์เพิ่มแต่ใดๆ โดยส่วนตัวเราชอบภาพฟิล์มสีโทนนี้ มากกว่าโทนแดงๆ ในเรื่อง Her (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องการคุมโทนมันก็ขึ้นอยู่กับฟีลของหนังแต่ละเรื่องแหละ)
เราไม่เคยดูหนังที่ Wes Anderson กำกับมาก่อนสักเรื่อง แต่ถ้าใครเป็นแฟนหนังของเขาหรือเคยดูผลงานของเขามาบ้าง เช่น Moonrise Kingdom, Fantastic Mr. Fox และ Rushmore ก็คงจะคุ้นเคยกับสไตล์การทำหนังของเขาเป็นอย่างดี เพราะเขาว่ากันว่าการที่ The Grand Budapest Hotel ใช้เทคนิคภาพสมมาตรก็เป็นสไตล์ที่เป็น signature ของผู้กำกับฯ คนดังคนนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่แค่เรื่องนี้ค่อนข้างเหนือชั้นกว่า ดูแพงกว่า และมีพล็อตที่จริงจังกว่าหลายเรื่องที่ผ่านมาของเขา
โดยรวม The Grand Budapest Hotel เป็นหนังตลกเนื้อดีและภาพสวยมาก การันตีคุณภาพด้วยผู้กำกับฯ Wes Anderson และนักแสดงชื่อดังคับจออีกมากมาย เช่น Ralph Fiennes, Bill Murray, Edward Norton, Owen Wilson, Jeff Goldblum, Jude Law, Saoirse Ronan และ Tilda Swinton ฯลฯ ซึ่งดูแล้วไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
เราให้ 8.5/10 ส่วนคะแนนใน IMDB ตอนนี้อยู่ที่ 8.2 จ้ะ (13 ธ.ค. 2014)
36 comments