ภาพยนตร์เรื่อง “The Imitation Game : ถอดรหัส อัจฉริยะพลิกโลก” สร้างจากเรื่องจริง อันเป็นเรื่องราวของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ “Alan Turing” กับภารกิจพิชิตนาซีที่จะทำให้คนทั้งโลกต้องตะลึง!!
The Imitation Game เข้าชิงลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 72 (Golden Globe Award 2015) 5 รางวัล ดังนี้
- รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: ประเภทดราม่า
- Benedict Cumberbatch เข้าชิง “รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม : ประเภทดราม่า”
- Keira Knightley เข้าชิง “รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม : ประเภทดราม่า”
- รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
- รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
นอกจากนี้ The Imitation Game ยังเข้าชิง SAG Awards 2015 อีก 3 สาขาใหญ่ๆ
- Performance By a Cast in a Motion Picture
- Performance By a Male Actor in a Leading Role: Benedict Cumberbatch
- Performance By a Female Actor in a Supporting Role: Keira Knightley
แต่ผลออกมา The Imitation Game ไม่ได้รางวัลติดไม้ติดมือกลับมาสักสาขาจากทั้งสองเวที แต่ตุ๊กตาทอง Oscars 2015 ที่ The Imitation Game ได้เข้าชิงถึง 8 สาขา เขาได้รางวัลกลับมานะจะบอกให้
- Best Picture
- Benedict Cumberbatch เข้าชิง Best Actor
- Keira Knightley เข้าชิง Best Supporting Actress
- Morten Tyldum เข้าชิง Best Director
- Best Adapted Screenplay (ได้รางวัล!)
- Best Original Score
- Best Film Editing
- Best Production Design
เรื่องย่อ The Imitation Game
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างและดัดแปลงจากเรื่องจริงของ Alan Turing (Benedict Cumberbatch หรือ Sherlock Holmes จากซีรีส์ดัง Sherlock) นักคณิตศาสตร์สุดอัจฉริยะจาก Cambridge ที่สามารถคิดค้นเครื่องกลถอดรหัส Enigma ของฝ่าย Nazi ได้ และทำให้เกมพลิก เครื่องกลของเขาทำให้ฝ่าย Allies ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์ที่พวกเราใช้ๆ กันอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย
นอกจากเรื่องราวความอัจฉริยะของ Alan Turing ในการแก้ปริศนา ถอดรหัส และการประดิษฐ์คิดค้น หนังเน้นถ่ายทอดลักษณะนิสัยส่วนตัวและชีวิตส่วนตัวของเขาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม โดยเฉพาะปมเรื่องความรักที่ในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องต้องห้ามและผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ
*FYI: Alan Turing = “Father of Theoretical Computer Science and Artificial Intelligence” (ไม่ใช่ Bill Gates หรือ Steve Jobs)
รีวิว/วิจารณ์ The Imitation Game
เรายกให้ The Imitation Game เป็นหนังดัดแปลงอัตชีวประวัติของบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งทศวรรษ การเล่าเรื่องไม่น่าเบื่อแบบสารคดีคร่ำครึ หากแต่มีการลำดับภาพสลับไปมา ระหว่างเหตุการณ์ในปี 1920s (วัยเรียน), 1940s (ช่วงสงคราม), 1950s (ช่วงหลังสงคราม) และจบที่ปี 1954 ซึ่งเป็นปีที่บิดาแห่งคอมพิวเตอร์คนนี้จากโลกไปอย่างไม่สงบ
การลำดับภาพลักษณะดังกล่าวเป็นการเล่นกับสมองคนดู เสมือนการต่อจิ๊กซอว์ “ชีวิตของอลัน ทูริ่ง” ไปด้วย โดยรวมหนังทำได้ดี และส่งให้ได้เข้าชิงออสการ์สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม
แทบทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งที่ดีที่สุดในหนังเรื่องนี้คือการแสดงอันมีเสน่ห์และมีพลังของ Benedict Cumberbatch เขารับผิดชอบบทบาท Alan Turing ได้ดีมาก เอาอยู่หมดทั้งในร่างเนิร์ด ร่างเฮิร์ต ร่างโกรธ หรือร่างกวน จะว่าไปแล้ว คาแรกเตอร์รวมๆ ก็คล้ายๆ กับตอนที่เขาเป็นนักสืบ Sherlock Holmes นั่นแหละ แต่ค่อนข้างมีมิติซับซ้อน ลึกลับ และน่าค้นหากว่ามาก
เรานึกภาพใครมารับบทนี้ไม่ออกเลยจริงๆ นอกจาก Benedict Cumberbatch คนนี้เท่านั้น เขาเหมาะกับบทอัจฉริยะกวนส้นที่พูดจาฉับๆๆ ที่สุดแล้ว คือโดยพื้นฐานเบ้าหน้าเขาเป็นคนฉลาด ดูแล้วเชื่อว่าเป็นนักคิดนักประดิษฐ์ (ไม่เหมือน Blackhat ที่จับเทพเจ้า six-pack มาเป็น hacker อุ๊ปส์!) ดังนั้น อย่าจับ Benedict ไปเป็นมังกรอีก เสียดายของ
สำหรับออสการ์สาขานักแสดงนำชาย บท Alan Turing ของ Benedict Cumberbatch คล้ายกับบท Chris Kyle สไนเปอร์ในตำนานชาติมะกันที่แสดงโดย Bradley Cooper ใน American Sniper ซึ่งได้เข้าชิงเหมือนกัน แต่เป็นฮีโร่คนละแบบคนละยุค กล่าวคือ Chris Kyle เป็นฮีโร่ที่ถือปืนอยู่เบื้องหน้าในสมรภูมิอิรัก แต่ Alan Turing เป็นฮีโร่ที่ถอดรหัสอยู่เบื้องหลังในสมัยสงครามโลก
ทั้งสองคนข้างต้นทำได้ดีไร้ที่ติ แต่เราคิดว่าบทของพวกเขายัง suffer หรือ drama ไม่พอที่จะคว้าออสการ์ โดยเฉพาะ Benedict Cumberbatch เนี่ย เล่นดีตีบทแตกกระจุยเลย แต่ไม่ได้เซอร์ไพรส์เท่าไหร่ เพราะค่อนข้างคงตัวจากซีรีส์ Sherlock และสุดท้ายรางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จึงตกเป็นของ Eddie Redmayne จาก The Theory of Everything เรียบร้อยโรงเรียน Cambridge
และตัวละครที่ดีเด่นรองลงมาและได้เข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำและตุ๊กตาทองคือนางเอก Keira Knightley ที่แสดงเป็น Joan Clarke เราชอบเวลาสองคนนี้อยู่ด้วยกัน และชอบการใช้คำว่า “like you” เราชอบการเล่นคำคำนี้ เพราะในภาษาอังกฤษ “like you” สามารถเอาไปใช้ได้มากกว่าบริบท “ชอบคุณ” แต่มันเอาไปใช้ว่า “เหมือนคุณ” ได้ด้วย (หนังไม่ได้ตั้งใจจะสื่อมาอย่างนั้นหรอก เราคิดต่อยอดของเราเอง)
คาแรกเตอร์ของ Joan Clarke เธอเป็นผู้หญิงที่มีความคิดความฉลาดประหนึ่งเป็น “Alan Turing ในร่างสตรี” คือเหมือนมาก ยกเว้นพฤติกรรมที่จะสดใสกว่าและเข้าสังคมเก่งกว่า ไม่ได้ geek แบบ Alan Turing
คนหลายคน รวมถึงหลานสาวที่ยังมีชีวิตอยู่ของ Alan Turing ติงว่าหนัง aggressive และคาแรกเตอร์ตัวละครเพี้ยนจากเรื่องจริงไปเสียหน่อย โดยเฉพาะ Keira Knightley ที่ทำให้ Joan Clarke ผิดแผกแตกต่างจากตัวจริงอยู่มาก เพราะตามหลักแล้ว Joan Clarke ตัวจริงต้องดูธรรมดามากกว่านี้ ไม่ใช่อยากเป็นคนไม่ธรรมดาแบบที่ในหนังถ่ายทอด
หรือกระทั่งตัวแมชชีนที่ Alan Turing คิดค้นมาฟาด Enigma ของเยอรมันนั้น จริงๆ ในวงการคอมพิวเตอร์เขารู้จักกันในชื่อ “Bombe” แต่ในหนังกลับเอาชื่อเพื่อนรักวัยเรียนของ Alan Turing มาตั้งแทน เพื่อสร้างความดราม่าให้พีคขึ้นไปอีกนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างหรือการดัดแปลงทั้งหมดทั้งมวลที่หนังทำขึ้นนั้น เรามองว่ามันทำไปในทางที่ดี มันเป็นสีสันที่ทำให้หนังขายได้ ดังนั้น เราว่าผู้กำกับฯ มาถูกทางแล้ว แทนที่จะทำหนังเล่าเรื่องจริงอันจืดๆ ชืดๆ ของนักคณิตศาสตร์คนหนึ่ง หรือหานักแสดงที่หน้าตาหรือบุคลิกท่าทางคล้ายตัวจริงมาเล่นตามคาแรกเตอร์จริงของตัวจริงเด๊ะๆ ก็คงไม่น่าไปดูเท่าไหร่นัก
ความเข้มข้นและความน่าสนใจมันอยู่ที่ การถ่ายทอดว่า Alan Turing ตัวจริงเขา “รู้สึกนึกคิด” อะไรอยู่ตอนนั้น มากกว่าสิ่งที่ Alan Turing ตัวจริงเขา “แสดง” ออกมา ซึ่งตอนนี้ออสการ์มาช่วยการันตีแล้วว่าหนังทำออกมาได้ดี กล่าวคือ The Imitation Game เข้าชิงและได้รับรางวัลบทดัดแปลงยอดเยี่ยมอีกสาขานั่นเอง
The Imitation Game โดยรวมไม่ได้เป็นหนังที่บทฉลาดล้ำ เรื่องราวซับซ้อนซ่อนเงื่อน หรือต้องตีความ 99 ตลบ เหมือนหนังของ Nolan แต่ก็เป็นหนังที่ไดอะล็อกฉลาด บทพูดคมคาย จังหวะรับส่งดี มุกตลกไม่ตลาด การแสดงออกทางอวัจภาษาดีงาม ภาพต่างๆ ดูแล้วเพลิดเพลินบันเทิงดี อาจมีงงกับภาษารหัสลับของมันบ้าง แต่ตรงนั้นมันก็สนุกชวนติดตามดี สิ่งที่ซับซ้อนที่สุดและน่าค้นหาที่สุดในเรื่องก็คงเป็นคาแรกเตอร์ของ Alan Turing นี่แหละ ซึ่ง Benedict Cumberbatch เอาอยู่หมด อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ข้อเสียที่เราจะติงสำหรับ The Imitation Game ก็คงจะเป็นเรื่องที่เขาพยายามยัดเยียดความดราม่ามากพอยท์จนเกินไป ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเหมือนหนังดูมีความพยายามดราม่าตลอดเวลา บางจุดมันก็โอเค เพราะจำเป็นต่อการดำเนินเรื่อง แต่บางจุดมันก็ไม่ได้จำเป็นต้องมีดราม่าอย่างนั้นก็ได้
แต่ก็อย่างที่ทราบกัน จะเข้าตาออสการ์ก็ต้องมีดราม่าหนักๆ ล่ะเนอะ เช่น ใน The Imitation Game ก็ให้ความสำคัญมากสุดที่ดราม่าประเด็น “คนชายขอบ” อย่างกลุ่มคนเพศที่สาม (ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับ ใครที่จิตวิปริตเพศวิปลาศแตกต่างจากธรรมชาติจะต้องถูกจำคุก) คิดซะว่าอย่างน้อยมันก็ยังดีที่ความดราม่านั้นหนังเขาทำออกมาได้ค่อนข้างกระชากอารมณ์ เล่าได้ดี และชวนอินอยู่บ้าง
โดยรวมหนังจะไม่ได้ทำให้เรารู้จักกับ Alan Turing มากนัก แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้จักว่าเขามีตัวตน และช่วยชีวิตคนกว่า 14 ล้านคนไว้ในยุคสงครามโลก (แบบปิดทองหลังพระ) เพราะความสำคัญของหนังคือ เขาอยากให้คนดูเข้าถึงว่ามันรู้สึกยังไงกับ “การเป็น Alan Turing” มากกว่า
โดย The Imitation Game จะพาเราไปเข้าถึงความรู้สึกของอัจฉริยะคนนึง ผู้ที่เคยเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ของระบบขนาดใหญ่ ผู้ที่ต้องทำงานอยู่เบื้องหลังและอยู่ภายใต้การกดดันเพื่อโค่นล้างนาซี แถมยังต้องปิดบังสถานภาพทางเพศของตัวเองอีก
เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกีดกันทางเพศ หรือ gender stereotypes เป็นประเด็นที่ดราม่ามากในยุคสมัยนั้น (กรณีศึกษาของอเมริกาในสมัยเดียวกัน เราเคยเขียนไว้ในบล็อกเรื่อง Big Eyes และ Mona Lisa Smile) ซึ่งเราทั้งหลายโชคดีแล้วที่เกิดมาในสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น
แล้วเราก็เชื่อว่า The Imitation Game จะเป็นเครื่องมือ mass media หรือหนังอีกเรื่องหนึ่ง ที่จะช่วยให้ gay community หรือกลุ่มคนชายขอบเหล่านี้ ได้รับการยอมรับมากขึ้นอีกระดับในสังคม และเมื่อพวกเขาสามารถ “เป็นตัวเอง” ได้อย่างเต็มที่ มันก็จะไม่มีอะไรมาลิมิตศักยภาพหรือจินตนาการการสร้างสรรค์ของพวกเขาอีกต่อไป
นอกจากเรื่องเพศที่สาม หนังยังเพิ่มเลเวลความดราม่าเรื่องเพศให้กับสตรี เขาตั้งใจเขียนคาแรกเตอร์ของ Joan Clarke ใหม่ จากตัวจริงที่เป็นแค่หญิงสาวแสนธรรมดา กลายเป็นตัวละครที่มีความพิเศษและโดดเด่นกว่าความเป็นจริง เป็นตัวแทนสตรีที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพด้านการทำงานและการออกเรือน
เพราะในสมัยนั้นลูกสาวต้องอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ และผู้หญิงก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมให้ทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ สังเกตได้ว่าในหนัง ผู้หญิงจะถูกตัดสินแต่เนิ่นๆ เสมอ เช่น ฉากที่นางเอกเดินเข้ามาในห้องทดสอบ หรือฉากที่ผู้ชายวิจารณ์แฟชั่นหมวกของผู้หญิง (เขียนไปเขียนมา วิญญาณ feminist เข้าสิงอิชั้นอีกแล้วค่ะ!)
“Sometimes, it is the people no one imagines anything of who do the things that no one imagines.”
ประโยคนึงที่พูดบ่อยๆ ในหนังคือ “Sometimes, it is the people no one imagines anything of who do the things that no one imagines.” โดยหนังจะทำให้เราเห็นว่า การคิด การทำ หรือการเป็นอะไรที่ “แตกต่าง” มันไม่ได้แปลว่า “แปลกแยก” เสมอไป บางที “แตกต่าง” ก็นำไปสู่การ “เปลี่ยนแปลง” ที่ยิ่งใหญ่เสียมากกว่า
แต่นั่นก็ต้องไม่ใช่ทำตัวสุดโก่งหรือไม่เอาใครซะทีเดียว อย่างเคสของ Alan Turing ถ้าเขายังคงนิสัยไม่เอาใครเลยของเขาอยู่ เขาก็อาจทำเครื่อง Bombe ไม่ประสบความสำเร็จ และสงครามโลกอาจจะต้องยืดเยื้อออกไปอีกกว่า 2-3 ปี (ซึ่งเท่ากับการสูญเสียอีกหลายล้านชีวิต)
แล้วอีกหนึ่งอย่างที่หนังสอนคนดูคือ เรื่องของการตัดสินคนสักคนหรือตัดสินอะไรสักอย่าง และนั่นคือหนึ่งในสาเหตุที่หนังควรชื่อ The Imitation Game ซึ่งเป็นเกมที่ Alan Turing คิดขึ้น เพื่อตัดสินว่านี่คนหรือคอม (Turing Test) ในหนัง เราจะเห็นเรื่องของการ “ตัดสิน”, “ตัดใจ”, และ “ตัดสินใจ” อยู่แทบตลอดเรื่อง
“Am I a war hero? Or am I a criminal?”
โดยตามหลักแล้วเราทุกคนไม่มีสิทธิไปตัดสินใครก็ได้ โดยเอาไม้บรรทัดของตัวเองไปวัดคนอื่น เช่น ถึงแม้กระบวนการคิดของคอมพิวเตอร์จะแตกต่างจากของมนุษย์ไปบ้าง แต่ความแตกต่างนั่นก็ไม่ได้แปลว่ามันจะคิดไม่เป็น (ดีไม่ดี อาจคิดได้แม่นยำกว่าคนเสียด้วยซ้ำ สำหรับบางกรณี) หรือ rookie ในสายตาเราสมัยเรียนนั้น อีกสิบปีข้างหน้า เขาอาจจะเป็น hero ที่ช่วยชีวิตเราและครอบครัวเราเอาไว้ก็ได้
นอกจากนี้ มันก็คงไม่ถูกต้องซะทีเดียวเช่นกัน ที่เราจะตัดสินใจใครสักคน โดยเอา “ส่วนแค่ส่วนเดียว” ที่เขาเป็นหรือที่เขาทำเป็นตัวชี้ชะตา ตามหลักแล้วเราไม่มีสิทธิไปตัดสินใคร ถ้าเราไม่ได้เห็นหรือเข้าใจชีวิตของคนคนนั้นครบทุกมุมทุกเวลา (ซึ่งแน่นอน ทุกคนล้วนมีความลับของตัวเอง จึงไม่มีใครรู้เรื่องของใครทั้งหมดอยู่ดี) เช่น เราจะไม่ว่า Alan Turing เลยที่ชอบเก็บตัว ถ้ารู้ว่าในสมัยเรียน เขาเจอกับอะไรมาบ้าง
“Popular at school, were you?”
กรณีของ Alan Turing เขาถูกตัดสินแตกต่างกันในแต่ละบริบททางสังคม ในแง่การทำงาน หรือในฐานะนักคณิตศาสตร์-นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ เขาเป็นฮีโร่ที่ช่วยชาติชนะสงครามและช่วยชีวิตผู้บริสุทธิ์อีกนับล้าน เขาได้รับทั้งการยอมรับและยกย่องในความรู้ความสามารถ แต่อีกแง่หนึ่ง เขากลับเป็นคนที่สังคมรังเกียจดูแคลน เพียงเพราะเขามีความเห็นความชอบหรือมีรสนิยมทางเพศไม่เหมือนคนหมู่มาก
การช่วยชาติอาจเป็นบุญ แต่การเป็นเกย์นั้นเป็นบาปที่หนักกว่า กระนั้นหรือ? (เราไม่รู้ว่าในไบเบิลเขียนถึงคนกลุ่มนี้ว่ายังไงนะ นี่แถอยู่) อืม… ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ คนในยุคนั้นก็คงจะให้ความสำคัญกับ “สิ่งที่เขาเป็น” มากกว่า “สิ่งที่เขาทำ” สิเนอะ แต่นั่นแหละ เราจะเอาปัจจุบันของเราไปตัดสินอดีตของเขาก็เห็นทีจะไม่ถูกต้องอีก อีกอย่าง… ในปัจจุบันก็ยังมีคนที่มีระบบความคิดและการตัดสินคนแบบนั้นหลงเหลืออยู่… พูดยาก
“Am I a war hero? Or am I a criminal?”
ไม่ใช่แค่คำถามที่ Alan Turing ถามเจ้าหน้าที่ในหนัง แต่เขาถามพวกเราคนดูทั้งหลายด้วย ว่าหลังจากดูจบแล้ว เราตัดสินเขายังไง เราตัดสินเขาได้หรือไม่ ซึ่งพอถึงจุดนั้น เราอาจจะถามตัวเองก็ได้ว่า “คำถามนี้ยังจำเป็นอยู่มั้ย?”
โดยสรุป The Imitation Game ผู้เข้าชิง 8 รางวัลออสการ์ในปีนี้ เป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริงที่ดีในระดับคงมาตรฐาน คือกำกับภาพดี เล่าเรื่องสนุก น่าติดตาม บทดี แต่ไม่ได้ฉลาดมากอย่างที่คาดหวังสักเท่าไหร่ คือดีนะแต่ไม่สุด ที่แน่ๆ เราคิดว่า “รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” นั้นไม่น่าจะได้ เพราะยังไม่พีคและไม่เข้มข้นพอเมื่อเทียบกับคู่แข่ง (อัปเดตล่าสุด รางวัลดังกล่าว Birdman ได้ไปนะจ๊ะ) คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10
จุดแข็งที่ The Imitation Game มีก็คือหนังเขาไดอะล็อกสนุก บทคมคาย เรื่องไม่ได้วิทย์จ๋าหรือคณิตจ๋า ค่อนไปทางสังคมหรือวัฒนธรรมมากกว่าเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะประเด็น homosexuality ส่วนศาสนาก็มีนิดหน่อยตามสูตรแต่น้อยมาก (ไม่เยอะแบบ Fury) รวมๆ ดูแล้วรู้สึกฉลาดขึ้นและสปาร์คแรงบันดาลใจ และที่เกิดที่สุดก็คือการแสดงของ Benedict Cumberbatch ที่แฟนๆ ของเขาไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ภาพยนตร์มีกำหนดเข้าฉายจริงที่ไทย วันที่ 29 มกราคม 2015 (ฉายรอบพิเศษวันที่ 22 มกราคม 2015 ตั้งแต่เวลา 20.00น. เป็นต้นไป)
หมายเหตุ ถ้าเนื้อหาด้านคอมพิวเตอร์ของเราผิดพลาดประการใด ติติงได้เลยนะคะ
37 comments