เชื่อว่าหลายๆ คนคงจับตาเฝ้ารอ The Little Prince เข้าฉายกันมาแรมเดือนแรมปี เพราะหนังแอนิเมชั่น “เจ้าชายน้อย“ นี้สร้างจากวรรณกรรมขายดีขวัญใจตลอดกาลของคนทั่วโลกเรื่อง Le Petit Prince ของ Antoine de Saint-Exupery (อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1943 ต่อมาถูกแปลไปมากกว่า 190 ภาษา และมียอดจำหน่ายกว่า 80 ล้านเล่มทั่วโลก
>>> คลิกอ่าน The Little Prince ฉบับภาษาไทย (pdf)
เรื่องย่อ The Little Prince (ฉบับภาพยนตร์)
เด็กหญิงวัยย่าง 9 ขวบ (Mackenzie Foy จาก Twilight, The Conjuring, Interstellar) ถูกเลี้ยงให้อยู่ในกรอบ กฎระเบียบ และแผนที่ชีวิตทุกอย่างที่คุณแม่ซิงเกิลมัมยังสาวของเธอ (Rachel McAdams จาก Mean Girls, The Notebook, Sherlock Holmes, About Time และพากย์ไทยโดยผู้ประกาศข่าวชื่อดัง น้องไบร์ท – พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ) วางไว้ให้ทุกกระเบียดนิ้ว
สองแม่ลูกย้ายบ้านใหม่เพื่อเตรียมพร้อมส่งเด็กน้อยเข้าโรงเรียนใหม่ในเปิดเทอมหน้า เด็กหญิงได้รู้จักกับคุณลุงใจดีข้างบ้าน (Jeff Bridges จาก Iron Man, TRON) ที่วันๆ หมกมุ่นอยู่กับการซ่อมเครื่องบินลำเก่า และได้ฟังคุณลุงนักบินเล่าเรื่องสมัยหนุ่มๆ ที่เขาขับเครื่องบินไปตกกลางทะเลทรายซาฮาร่าและพบกับเจ้าชายน้อย (พากย์เสียงภาษาอังกฤษโดยลูกชายผู้กำกับฯ Riley Osborne จาก Kung Fu Panda ส่วนพากย์ไทยให้เสียงโดยนักแสดงเด็กดาวรุ่งลูกลำยอง น้องแม็ค – ณัฐพัชร์ นิมจิรวัฒน์)
เจ้าชายน้อยที่คุณลุงนักบินไปพบนั้น มาจากดาวเล็กๆ ที่พระอาทิตย์ขึ้นวันละ 43 ครั้ง และทั้งดาวมีแค่เขากับดอกกุหลาบแสนสวยที่เขาทิ้งมา (Marion Cotillard จาก La môme, Inception, The Dark Knight Rises) เจ้าชายน้อยเดินทางไปดาวต่างๆ ได้เจอและเรียนรู้อะไรจากผู้ใหญ่แปลกๆ ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น King (Bud Cort จาก Coyote Ugly), นักมายากลคนหลงตัวเอง (Ricky Gervais จาก Night at the Museum), นักธุรกิจหน้าเงิน (Albert Brooks จาก Drive), หมาป่า (James Franco จาก Spider-Man, 127 Hours), งูแอฟริกา (Benicio Del Toro จาก Sicario)
วันหนึ่งเด็กสาวขับเครื่องบินเพื่อสานฝันและไปตามหาเจ้าชายน้อยแทนคุณลุงนักบินซึ่งกำลังป่วยหนักตามความชราภาพ เธอไปลงจอดที่ดาวแห่งหนึ่งซึ่งมีแต่ผู้ใหญ่ ไม่มีเด็กเลยสักคน และได้พบกับเจ้าชายน้อย ซึ่งปัจจุบันโตเต็มตัวกลายเป็น Mr. Prince แล้ว (Paul Rudd จาก Ant-Man) และท่าทางเหมือนจะลืมวัยเยาว์ของตนรวมถึงนักบินที่เขาเจอกลางทะเลทรายไปแล้วสิ้น เด็กหญิงจึงต้องพยายามดึงสติ Mr. Prince ของเรากลับมา และพาเขากลับไปดาวบ้านเกิด เพื่อกลับไปหาดอกกุหลาบที่เขาพลาดพลั้งทิ้งไป…อีกครั้ง
“And this is how I met the little prince”
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ภาพยนตร์ The Little Prince
The Little Prince ฉบับการ์ตูนแอนิเมชั่นนี้ ใช้เวลาการสร้างถึง 4 ปีเต็ม เป็นฉบับดัดแปลง ตีความเพิ่มเติม และปรับบริบทให้เข้ากับยุคสมัย 2015 (ต้นฉบับตีพิมพ์ตั้งแต่ 1943) โดยยังเคารพหนังสือต้นฉบับของ Antoine de Saint-Exupery ไว้แทบทุกประการสำคัญ ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับทั้งคนที่เคยอ่านและไม่เคยอ่าน เป็นแฟนหนังสือและไม่เป็นแฟนหนังสือ Le Petit Prince
Mark Osborne ผู้กำกับของเรื่อง แบ่งโลกในหนังออกเป็นสองใบ และใช้เทคนิคเนรมิตภาพออกมาแตกต่างผสมกัน กล่าวคือ โลกแห่งความจริงที่เด็กหญิง คุณแม่ และคุณลุงนักบินอาศัยอยู่ ถูกถ่ายทอดในรูปแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก 3 มิติ แบบเดียวที่ใช้กับแอนิเมชั่นค่าย Pixar และ Dreamworks ส่วนโลกของเจ้าชายน้อยจะเป็นแบบ “stop motion animation“ อิงจากภาพวาดสีน้ำออริจินัลในหนังสือ ซึ่งให้ความรู้สึกกับคนดูว่าภาพวาดบนกระดาษหนังสือได้มีชีวิตโลดแล่นขึ้นมาจริงๆ
ซึ่งเราชื่นชมเลยว่า งานภาพของเขาสวยงามสมจริง บางทีก็รู้สึกเหมือนว่ากำลังดูงานของ Wes Anderson (ผู้กำกับ The Grand Budapest Hotel) ยังไงยังงั้น และบางทีก็ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังดูการ์ตูนอยู่ เพราะโปรดักชั่นเหมือนดูหนังท็อปฟอร์มชั้นดีหลายเรื่อง คือดูใส่ใจในรายละเอียดจริงๆ แม้แต่ประเด็นคนผิวสี หนังเขาก็ไม่ทิ้ง (ทั้งนี้ เขาว่ากันว่าเทรนด์ Black Movies กำลังมา) โดยในเรื่องมีคนผิวสีประกอบอยู่ด้วย เช่น ฉากแรกก่อนรอสัมภาษณ์ที่รร. กับคุณตำรวจในเรื่อง
สังเกตง่ายที่สุดคือ เครื่องแต่งกายของคุณแม่สุดเนี้ยบในเรื่อง เธอจะทำผมตึงเป๊ะ หน้าเต็ม ยูนิฟอร์มเป็นสไตล์ชายหญิง unisex บ่งบอกสถานะการเป็นซิงเกิลมัมผู้ซึ่งต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ในคราวเดียวกัน แล้วเธอยังจะใส่แต่ชุด formal แบบเดิมและสีเดิม (จนเหมือนตัวเดิม) ทุกวัน จะมีแค่ 1-2 ฉากท้ายๆ เท่านั้นที่เราจะได้เห็นเธอในลุค casual ชิลๆ แบบชาวบ้านเขาบ้าง ซึ่งตรงนี้บ่งบอกคาแรกเตอร์ของเธอได้ชัดทีเดียว
เครื่องแต่งกายของคุณลูกก็เช่นกัน ช่วงแรกๆ ที่ยังเป๊ะๆ ทำทุกอย่างตามคุณแม่ (แม้แต่ตอนแปรงฟัน) นางก็จะใส่ที่คาดผมคุณหนูสีขาวประดับหัวตลอด จนกระทั่งได้รู้จักกับคุณลุงนักบิน เธอก็ค่อยๆ ถอดมงอันเก่าออก แล้วสวมหมวกนักบินแทน จนในตอนจบของเรื่อง จะเห็นได้ว่า เธอก็ไม่ได้กลับไปใส่ที่คาดผมเหมือนเคยอีกแล้ว…
นอกจากนี้ การออกแบบตึกรามบ้านช่อง ผังเมือง ทุกอย่างจะเป็น “กรอบ” เป็นเหลี่ยมๆ เส้นตรงๆ และเป็นแพตเทิร์นไปเสียหมด จนไปถึงการใช้โทนสีทึมๆทั้งตัวบ้านและรถยนต์ ก็สะท้อนให้เห็นคาแรกเตอร์ของคนในเมืองนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทุกอย่างมันดูเป็นแพตเทิร์นเหมือนกันไปหมด มองบางมุมมันก็ดูเป็นระเบียบดี แต่ถ้ามองอีกมุมนึง ความเป็นระเบียบนั้นมันก็น่าเบื่อและขาดชีวิตชีวาเช่นกัน ซึ่งทั้งเมืองนี้ เห็นจะมีก็แต่บ้านและรถของคุณลุงนักบินนี่แหละที่โดดเด่น ดูใกล้เคียงกับคำว่า “ธรรมชาติ” และมีสีสันที่สุดแล้ว
ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้นไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะบทประพันธ์ต้นฉบับของเรื่องนี้เขียนไว้ดีมากอยู่แล้ว ถึงแม้จะเล่มบางจึ๋งเดียวแต่เนื้อหากับคำคมนั้นแน่นปึ้กทุกบรรทัด (คนเขียนเคยเป็นนักบินจริงๆ เช่นเดียวกับคุณลุงในเรื่อง) มีประเด็นเสียดสีสังคม สอดแทรกปรัชญา ข้อคิด และสัญลักษณ์เกี่ยวกับ “การเป็นผู้ใหญ่” แฝงอยู่มากมาย สามารถตีความได้ลึก กว้าง และหลากหลาย ซึ่งบางทีก็อดไม่ได้ที่จะเอา The Little Prince ไปเปรียบเทียบกับ Inside Out ที่เพิ่งดูไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
แล้วพอแก่นสารของ The Little Prince มันสามารถนำไปเปรียบเทียบกับ Inside Out ได้นั้น ขอบอกเลยว่า The Little Prince พ่ายราบคาบ เพราะอย่างที่รู้กัน Inside Out เขาทำมาเจ๋งมากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเนื้อหาสาระ การนำเสนอ การบิลด์อารมณ์ และความบันเทิงที่ทำเอาคนดูหัวเราะท้องแข็งตลอดเรื่อง ดังนั้น ทางที่ดี ไม่ควรเอาเจ้าชายตัวน้อยๆ ไปเปรียบเทียบกับเจ้าห้าสหายใน Inside Out แล้วเราจะได้พบกับสาระและความอบอุ่นที่เจ้าชายน้อยพยายามจะบอกอย่างเต็มที่
ถึงแม้แก่น “การโตเป็นผู้ใหญ่” และ “การหวนคิดถึงวัยเยาว์” ที่แฝงอยู่ในเรื่องจะถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์มาก่อนตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งพอจะใช้ยืนยันได้ว่าเจ้าชายน้อยไม่ได้ลอกไอเดีย Inside Out แน่ๆ แต่การเล่าเรื่องของ The Little Prince ฉบับหนังนี้ถือเป็นจุดอ่อนของหนังที่มันทำให้อะไรๆ มันสื่อออกมาได้ยังไม่สุดอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้อาจเพราะในหนังเขายกเอา Le Petit Prince ต้นฉบับมาเป็นแค่ side story (หรือ back story เลยก็ว่าได้) และยังต้องพยายามรักษาเล่าโมเมนต์ที่ดีที่สุดในหนังสือให้มากที่สุด ตอนหนังเล่าการเดินทางของเจ้าชายน้อยที่ไปพบปะคนบนดาวต่างๆ รวมถึงมิตรภาพระหว่างเจ้าชายน้อยกับคุณหมาป่า เขาเล่าเวรี่บรีฟ มันผ่านไปไวมาก แค่กะพริบตาก็เปลี่ยนดาวแล้ว จนไม่ได้สร้างอารมณ์ร่วมและความเข้าใจให้กับคนดูได้ลึกซึ้งพอ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่เคยอ่านมาก่อนกับเด็กเล็กๆ อาจจะดูไม่เข้าใจหรือตามพอยต์ไม่ทัน
ดังนั้น The Little Prince ในมุมมองของเรา เป็นหนังเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีก็จริง แต่ต้องคิดตามให้มากๆ ถึงจะได้อะไรจากหนังจริงๆ และโดยรวมจัดเป็นหนังที่เหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก (จริงๆ ตัวหนังสือเอง ก็ไม่ได้เป็นหนังสือเด็กอย่างที่ปกหลอกด้วยนั่นแหละ เออ พอกัน) เด็กเล็กๆ อาจดูแล้วงงๆ เบื่อๆ บ้าง แต่อย่างไรก็ดี หนังก็ยังช่วยสร้างเสริมจินตนาการเด็กได้อยู่เหมือนกัน เพราะหนังเขาภาพสวย เพลงเพราะ งานละเอียด จามที่กล่าวไปข้างต้น
ในหนัง เจ้าชายน้อย (จากดาว asteroid B-612) ได้เจอแค่พระราชา (ดาว B-325), นักมายากลคนหลงตัวเอง (ดาว B-326), นักธุรกิจหน้าเงิน (ดาว B-328), และก็ไปเจอหมาป่าเลย แต่ในหนังสือ เจ้าชายน้อยจะเจอคนเยอะกว่านั้น ก็คือจะเจอคนขี้เมา (ดาว B-327), คนจุดตะเกียง (ดาว B-329), และนักภูมิศาสตร์ (ดาว B-330) ฯลฯ ด้วย
คนแต่ละคนที่เจ้าชายน้อยไปเจอบนดาวต่างๆ นั้น ล้วนแต่เป็น “ผู้ใหญ่” กันหมดแล้ว ทุกคนเปรียบเทียบได้กับ “ธรรมชาติของมนุษย์” (Human Nature) โดยเฉพาะจำพวกที่ชอบคิดและทำตัวเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (self-centered) หรือ “live in their own world” นั่นเอง โดยจะสังเกตได้ว่า ทุกคนจะอยู่ตัวคนเดียวบนดาวเล็กๆ ของตนเองเท่านั้น
พระราชา เป็นตัวแทนของคนที่ชอบคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น คนพวกนี้ชอบคิดว่าตัวเองสำคัญและเป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่ง มองคนอื่นทุกคนเป็นแค่ objects ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ไม่มีใครสนใจเขาหรอก เขาโคตรจะโดดเดี่ยวเดียวดายอยู่ในโลกเล็กๆ แคบๆ ของเขา แถมยังไม่มีอำนาจที่แท้จริงอีกต่างหาก เต็มที่ก็ดีแต่คุยโวโอ้อวดไปวันๆ แต่เอาเข้าจริงคือไร้ประโยชน์ (ถ้าเทียบกับยุคสมัยที่คนแต่งเขียน ก็อาจจะเปรียบ King ณ ที่นี้ได้กับผู้นำสักคน หรือหลายๆ คน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนู้นก็เป็นได้)
นักมายากลผู้หลงตัวเอง ก็ตรงตัวตามนั้นเลย แทนคนที่ชอบคิดว่าตัวเองหน้าตาดีที่สุดหรือเก่งที่สุดในปฐพี หรือไม่ก็คิดว่าคนทุกคนบนโลกจะต้องชอบเขา กระสันอยากได้แต่คำชื่นชมหรือเสียงปรบมือ จริงๆ ชีวิตของเขาก็ไร้ค่าเช่นกัน เต็มไปด้วยคำโกหก หลอกลวง หรือการใส่หน้ากาก โดยผิวๆ อีตานี่อาจคล้ายพระราชาในพารากราฟตะกี๊ แต่ต่างกันตรงที่อีตาตัวตลกนี่จะต้องพยายามทำอะไรเพื่อเรียกร้องความสนใจก่อนเสมอ
นักธุรกิจหรือ businessman นี่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะชัดมากกับคนหลายคนในยุคปัจจุบันเรา พวกนี้เป็นพวกบ้างานและบ้าเงิน ในเรื่องก็คือจะโลภ นับและจดแต่จำนวนดาวที่เคลมว่าตัวเองเป็นเจ้าของ สนใจแต่ตัวเลขและการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ (คือ value กับการเป็น ownership ประมาณนั้น) หรือไม่ก็สนใจแต่เงินทองของนอกกายจนลืมใส่ใจความสวยงามของชีวิตรอบข้างอย่างน่าเสียดาย (นี่อาจจะคล้ายกับวลี lost the moon while counting the stars)
“It is only with the heart that one can see rightly; what is essential is invisible to the eye”
ส่วนหมาป่า ชัดเจนง่ายๆ เลยว่า แทนความหมายของ “เพื่อน” หรือ “ความสัมพันธ์” หมาป่าสอนอะไรเจ้าชายน้อยหลายสิ่ง โดยเฉพาะสอนให้รู้จักการคบเพื่อนและสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงความสัมพันธ์ของเขากับดอกกุหลาบที่เขาเคยทอดทิ้งไป ซึ่งดอกกุหลาบนั้นก็แทนความสัมพันธ์เช่นเดียวกับหมาป่า แต่หมาป่าแทนเพื่อน ส่วนดอกกุหลาบแทน “คนรัก ความรัก”… ที่เต็มไปด้วยความสวยงามและความเจ็บปวด และต้องอาศัยความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ
“To be sure, an ordinary passerby would think that my rose looked just like you….But in herself alone she is more important than all the hundreds of you other roses: because it is she that I have watered;…because it is she that I have listened to when she grumbled, or boasted, or even sometimes when she said nothing. Because she is my rose.”
จะเห็นได้ว่าคนต่างๆ ที่เจ้าชายน้อยเดินทางไปเจอบนดาวต่างๆ (ไม่นับหมาป่ากับงู) เปรียบเสมือน “ผู้ใหญ่ที่ไม่พึงประสงค์” และเป็นบ่อนทำลาย “ความเป็นเด็ก” ของเด็กๆ เช่น สำหรับชีวิตจริงของเด็กหญิงในเรื่อง ผู้ใหญ่ดังกล่าวหาใช่ใครอื่นไม่นอกจาก “มนุษย์แม่” ของเธอเอง ที่คอยวางแผนจัดการชีวิตลูกทุกอย่าง ประหนึ่งลูกเป็นเบี้ยบนกระดานหมากรุก โดยที่ไม่เคยถามลูกสักคำว่า “โตไปลูกอยากจะเป็นอะไร”
แล้วประเด็นคือแนวทางที่มนุษย์แม่คิดวางไว้ให้ก็ใช่ว่าจะดีงาม เหมาะสม หรือถูกต้องเสมอไป แถมชีวิตของตัวขุ่นแม่เองก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือ “มีความสุข” แล้วในด้านการงานและครอบครัว อย่างที่จะเห็นได้ในเรื่อง แม่ก็ยังหัวหมุนกับการงานที่บริษัท ไม่ค่อยมีเวลาใช้ชีวิตอยู่กับลูก และแยกทางกับสามี เธอเลยต้องเป็น single mom เป็นทั้งแม่และพ่อให้ลูกสาววัยเก้าขวบ (นั่นไง แอบแฝงประเด็น “ครอบครัว” ยุคใหม่)
จากการเลี้ยงดูของแม่ ส่งผลให้เด็กหญิงเป็นเด็กที่ค่อนข้างโตเป็นผู้ใหญ่ในทุกๆ ด้าน ฉลาด มีความคิด มีความรับผิดชอบ จนเหมือนเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานในร่างเด็กประถม ที่ขาดสังคม…ขาดเพื่อน…และไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ในชีวิต
จริงๆ แล้วชีวิตวัยเด็กเป็นสิ่งสำคัญและสวยงาม เด็กไม่ควรรีบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควรเร็วเกินไป เพราะมิฉะนั้นอาจจะสูญเสียสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดไป และแน่นอนว่าเวลาเป็นสิ่งที่หวนคืนมาไม่ได้ ใดใดในโลกก็ล้วนอนิจจัง ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ไม่ควรตีกรอบ บงการ ปิดกั้น หรือจำกัดชีวิตและจินตนาการของลูกหลาน ถ้าอยากให้เขาโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่วันเดอร์ฟูล เราจะต้องปล่อยให้เขาโตมาในแบบของเขา ไม่ใช่แบบของใคร
อย่างไรก็ตาม ทั้งเด็กหญิงและแม่ต่างก็ยังน่าชื่นชมอยู่ในฐานะที่เป็นหญิงแกร่ง ทั้งเรื่องจะไม่มีพ่อปรากฏกายมาให้เจอเลย มีก็แต่ของขวัญวันเกิดที่พ่อส่งมาให้ทุกปีๆ แล้วแต่ละชิ้นก็เหมือนเดิมทุกปี เก้าอันเก้าชิ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เด็กหญิงจะโหยหา “พ่อและเพื่อน” จนกล้าขัดคำสั่งแม่เพื่อข้ามไปเล่นกับลุงนักบินข้างบ้าน ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นทั้งเพื่อนสนิท ญาติผู้ใหญ่ และพ่อคนที่สองของเธอ ที่สำคัญยังเป็นผู้เปิดโลกแห่งจินตนาการให้กับเธออีกด้วย
ฉากที่เด็กหญิงสตาร์ทเครื่องติดครั้งแรก ใส่หมวก และขับเครื่องบินโฉบผ่านโรงเรียนไฮโซเป็นช่วงเวลาที่แสดงให้เห็นว่าเด็กหญิงได้ใช้ออกไปเปิดโลก ใช้ชีวิตอย่างแท้จริง และได้ค้นพบว่าจริงๆ แล้ว “จินตนาการ (และประสบการณ์) สำคัญกว่าความรู้ (ในตำราหรือในโรงเรียน)”
บนดาวที่เด็กหญิงแลนด์ดิ้งไปเจอ Mr. Prince (เจ้าชายน้อยเวอร์ชั่นผู้ใหญ่) เป็นดาวที่มีแต่ผู้ใหญ่ ไม่มีเด็กเลยสักคน แต่ทุกคนก็ใช้ชีวิตอย่างกับเครื่องจักรเครื่องกล อยู่ในกล่อง ห้องสี่เหลี่ยม และโต๊ะเล็กๆ ทำงานงกๆ ผู้คนบนท้องถนนก็เดินกันอับเฉาอย่างกับซอมบี้ตายซาก โลกของผู้ใหญ่ที่นี่ช่างวุ่นวายและน่าเบื่อสิ้นดี ซึ่งยิ่งทำให้เด็กหญิงได้มั่นใจยิ่งๆ ขึ้นไปเลยว่า “นี่ไม่ใช่ชีวิตอย่างที่เธอต้องการ นี่ไม่ใช่ผู้ใหญ่อย่างที่เธออยากเป็น”
และในขณะเดียวกัน เธอก็ได้เรียนรู้อีกว่า เป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่การลืมวัยเด็กต่างหาก… ที่เลวร้าย
ชีวิตเราเป็นของเราเนอะ เราต้องคิดเอง เลือกเอง และทำเอง เออ แล้วคุณล่ะ… รู้หรือยังว่า “โตไปอยากเป็นอะไร” เป้าหมายที่เรามีในวันนี้เป็นเป้าหมายของเราเองจริงๆ หรือเป็นเป้าหมายของใครคนอื่น (ไหนลองวาดแกะให้ฉันซิ!)
หรือถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลองย้อนดูตนเองสักหน่อยว่า “นี่คือชีวิตอย่างที่เราอยากเป็นแล้วรึยัง” เรา Wonderful แล้วรึยัง?
The Little Prince เข้าฉาย 22 ต.ค. ทั้งในระบบปกติและระบบสามมิติ คะแนนตามความชอบส่วนตัว 7.5/10
ป.ล. คนพากย์เรื่องนี้มีแต่ดาราใหญ่ๆ ดังๆ ทั้งนั้นเลยยยย น่าสนใจๆ
45 comments
สุดยอดครับเผื่อเพื่อนๆอยากดูผมเอาลิงค์มาให้ คลิกที่นี่