The Lobster เป็นภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับชาวกรีซ Yorgos Lanthimos เจ้าของผลงานกำกับเรื่อง Dogtooth (“Kynodontas”) ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวั
โดย The Lobster ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หนังคว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Cannes Film Festival, Rotterdam International Film Festival, Film Fest Gent, European Film Awards และล่าสุดยังได้เข้าชิงบนเวที British Independent Film Awards ถึง 7 สาขาใหญ่ๆ อีกด้วยกัน!
โดยเรื่องราวใน The Lobster เกิดขึ้นในเมืองดิสโทเปียเมืองหนึ่งที่ “การเป็นโสดเป็นสิ่งต้องห้าม” ถ้าคนโสดคนไหนหาคู่ไม่ได้ภายใน 45 วัน เขาคนนั้นจะต้อง “กลายเป็นสัตว์” ตลอดไป น่าสนใจมากๆ
เรื่องย่อ The Lobster
หลังจากภรรยาหลบหนีไปกับชู้ David (Colin Farrell จาก Total Recall, True Detective) จึงกลายเป็นคนโสดและถูกพาไปยัง The Hotel ซึ่งเป็นสถานที่ที่กักกันคนโสดให้มาอยู่รวมกันเป็น community ดูแลโดยผู้จัดการโรงแรม (Olivia Colman จาก The Iron Lady)
ที่ The Hotel คนโสดทุกคนจะต้องหาคู่ให้ได้ภายใน 45 วัน มิเช่นนั้นจะต้องถูก transform ให้กลายเป็นสัตว์ตลอดไป โดยแต่ละวันพวกเขาจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา การเต้นรำ นันทนาการ และการออกล่าคนโสดหรือ The Loners ที่อาศัยอยู่ในป่า ถ้าจับ The Loners ได้ 1 คน ก็จะได้ยืดอายุของการเป็นมนุษย์ได้อีก 1 วัน นอกจากนี้ที่นี่ยังมีสาว Maid (Ariane Labed) มาบริการคอยช่วยกระตุ้นอารมณ์ความเป็นชายให้ทุกวัน โดย ณ ที่นี่ การช่วยตัวเองก็เป็นเรื่องต้องห้าม
David ได้เพื่อนใหม่คือ ชายพูดไม่ชัด (John C. Reilly) ที่คิดไว้แล้วว่าตัวเองจะเป็นนกแก้ว และ John ชายขากะเผลก (Ben Whishaw จาก Spectre, Skyfall, Cloud Atlas) ที่ตั้งมั่นว่าจะไม่ยอมกลายเป็นสัตว์เด็ดขาด จึงพยายามตามจีบสาวที่เลือดกำเดาไหลตลอดเวลา (Jessica Barden) มาเป็นคู่ตุนาหงัน
ตัว David เองก็ไม่ได้กระตือรือร้นอะไรเลย เขาไม่สนใจจะหาคู่และไม่เหลียวแลมนุษย์ป้าบิสกิต (Ashley Jensen) ที่มาตามอ่อยเขาด้วย เขาใช้ชีวิตไปวันๆ อยู่กับ Bob พี่ชายของเขาที่ตอนนี้กลายเป็นสุนัขสัตว์เลี้ยงของเขา เขาตั้งใจว่าเขาจะเป็นล็อบสเตอร์ เพราะกุ้งชนิดนี้อายุยืนเป็นร้อยปี มีเลือดสีน้ำเงินเหมือนเลือดผู้ดี และเขาเองก็ชอบทะเลเป็นการส่วนตัว
จนกระทั่งวันหนึ่งเขาเกิดไปสปาร์คและแต่งงานกับสาวใหญ่ไร้หัวใจ (Angeliki Papoulia) แต่ต่อมาก็ฝืนกันไปไม่รอด David หนีออกจาก The Hotel เข้าป่าไปอยู่กับพวก The Loners และได้รู้จักกับสาวสวยสายตาสั้น (Rachel Weisz จาก The Mummy)
แต่การอยู่กับกลุ่ม The Loners ก็ไม่ได้ง่าย เพราะหัวหน้ากลุ่ม (Léa Seydoux จาก Spectre, Blue Is the Warmest Color, The Grand Budapest Hotel, Mission: Impossible) ตั้งกฎไว้ว่าห้ามจีบ ห้ามรัก และห้ามมีเพศสัมพันธ์กันเด็ดขาด (แต่สามารถช่วยตัวเองเมื่อใดก็ได้) ดังนั้นความสัมพันธ์ของ David กับสาวสวยสายตาสั้นจึงเป็นรักต้องห้ามเช่นกัน
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ The Lobster
ช่วงหลังๆ มานี้ พวกเราอาจจะได้ดูหนังแนวโลกดิสโทเปียกันหลายเรื่อง ตั้งแต่ The Hunger Games, The Maze Runner, หรือ Divergent แต่จะเห็นได้ว่าพวกนั้นล้วนแต่เป็นหนังไตรภาคยาวๆ แบ่งมนุษย์เป็น class หรือ faction มากมาย (The Hunger Games ก็มี Capitol + 13 Districts ส่วน Divergent ก็มีกัน 4 factions + factionless) และเน้นแต่วัยรุ่นวัย YA (Young Adults)
The Lobster ก็เป็นสังคมดิสโทเปียเช่นกัน แต่แบ่งคนเป็นแค่สองกลุ่มใหญ่ๆ คือคนมีคู่กับคนไม่มีคู่ อ้างอิงจากสังคมปัจจุบันที่ชอบคาดหวังให้คนคนนึงต้องมีคู่ (เรียนจบ ทำงาน แต่งงาน บลาๆๆ) และในเรื่องนี้จะแทบไม่มีเด็กเลย มีก็แต่วัยหนุ่มใหญ่สาวใหญ่ ซึ่งแต่ละคนมักมีความแปลกประหลาด ไม่สมประกอบ ขาดๆ เกินๆ เช่น ขากะเผลก, พูดไม่ชัด, เลือดกำเดาไหลตลอดเวลา, สายตาสั้น ฯลฯ
นอกจากนี้คนมีคู่จะได้อยู่ในเมืองหรูหรา ชีวิตดี๊ดี มีอิสระ ในขณะที่คนโสดเหมือนคนแปลกแยก เป็นเสมือน “คนชายขอบ” ของสังคม ถูกกักกัน ถูกบังคับให้ทำนู่นทำนี่ราวกับไม่ใช่คน และสุดท้ายก็ต้องกลายเป็นสัตว์ หรือไม่ก็เป็นคนเร่ร่อนตามชายป่า
เราชอบพล็อตอันแยบยลและการสร้างโลกดิสโทเปียให้คนโสดใน The Lobster มาก กล่าวคือหนังเขาเอาเรื่องของความรัก ความสัมพันธ์ และชีวิตคู่ มาผูกโยงกับเรื่องความเป็น ความตาย และการเป็นสัตว์ ดังนั้น The Lobster จึงเป็นหนังตลกร้ายที่ตอกย้ำคนโสดและจิกกัดคนมีคู่ได้อย่างเจ็บแสบที่สุดเรื่องหนึ่งที่เราเคยดูมาเลยทีเดียว
เมนไอเดียของชีวิตคู่ที่เห็นได้บ่อยครั้งที่สุดใน The Lobster คือการพยายาม “หา” คนที่เหมือนกับคนที่เราเป็น และพยายาม “เป็น” คนที่เหมือนกับคนที่เราหมายปอง (“A wolf and a penguin cannot live together,”)
กล่าวคือ ตัวละครในเรื่องจะพยายามจับคู่ตัวเองกับคนที่มีปมด้อยคล้ายๆ กัน เช่น คู่ขากะเผลก คู่เลือดกำเดา หรือคู่สายตาสั้น ซึ่งบางที… อะไรแบบนี้มันก็มาพร้อมกับการโกหกเสแสร้ง ซึ่งแน่นอนว่า มันย่อมไม่จีรัง วันนึงก็ต้องมีคนใดคนหนึ่งจับได้ หรือไม่ก็ต้องมีวันนึงที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกพยายามที่จะฝืนตัวเอง
แล้วในเมืองนี้ ความเป็นกลางและความพอดีที่ไม่มีอยู่จริง คนโสดต้องมีคู่ แล้วต้องระบุชัดเจนเลยว่าจะเอาผู้หญิงหรือเอาผู้ชาย เพราะจะไม่มีชอยส์ Bisexual ให้เลือกสำหรับยุคนั้นแล้ว แม้กระทั่งที่ The Hotel ก็จะไม่มีรองเท้าไซส์ครึ่ง เช่น 44.5 ให้เลือกใส่ ผู้ใส่ต้องเลือกระหว่าง 44 หรือ 45 เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ต้องเลือกใส่รองเท้าไซส์หลวมมากกว่าไซส์คับ
การเลือกคู่ชีวิตก็คงเหมือนการเลือกรองเท้า เพราะเราต้องใส่รองเท้าเดินไปไหนมาไหนตลอดทุกวัน เราต้องเลือกรองเท้าทั้งแบบที่เราชอบ ทั้งที่ใส่สบายและไซส์พอดีกับเราที่สุด ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ได้พอดีเป๊ะๆ แต่เราก็จำเป็นต้องใส่รองเท้า เพราะการใส่รองเท้ามันดีกว่าและปลอดภัยกว่าการเดินเท้าเปล่า
ที่ The Hotel ผู้จัดการจะแบ่งแยกชนชั้นคนโสดกับคนมีคู่อย่างชัดเจน เช่น กิจกรรมกีฬา คนโสดก็ต้องเล่นแต่กีฬาเหงาๆ เช่น ตีกอล์ฟ หรือว่ายน้ำ และจะไม่สามารถเข้าไปในโซนกีฬาประเภทคู่ อย่างเช่น เทนนิส ของคนมีคู่ได้เลย (คือก็เข้าใจนะว่ามันเป็นกิจกรรมที่ต้องทำเป็นคู่ แต่นี่คือ ถึงแม้ว่าจะมีเพื่อนไปด้วยก็เข้าไปเหยียบสนามไม่ได้ ใจร้ายที่สุด!)
นอกจากนี้ผู้จัดการโรงแรมยังพยายามทำให้คนโสดเห็นว่า โอเคค่ะ… เป็นโสดไม่ตาย… แต่การเป็นโสดคือ insecurity และ uncomfortableness และการมีคู่จะ more secure และ more comfortable มากกว่า เช่น การทานอาหารด้วยมือข้างเดียว การทายาแก้ปวดในส่วนที่มือเอื้อมไม่ถึง หรือการเดินคนเดียวในยามราตรีที่แสนเปลี่ยว เป็นต้น โดยแทบไม่เมนชั่นเลยว่าการมีคู่ จริงๆ แล้ว ก็มีปัญหาให้รับมือเช่นกัน
ดังนั้น การที่จะมีชีวิตรอดอย่างมีความสุขที่เมืองแห่งนี้ บางทีเราอาจจะต้องใส่รองเท้าที่หลวมบ้างคับบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเห็นว่าเรามักเลือกคู่ที่หลวมมากกว่าคู่ที่คับ เพราะมันน่าจะเจ็บน้อยกว่า และหวังว่าวันนึงจะมีอะไรมาเสริมให้พอดีกว่านี้ โดยถ้าเป็นคู่ชีวิตจริงๆ สิ่งที่มาเสริมให้พอดีมักมาในรูปแบบของ “เด็ก” นั่นเอง
ที่ The Hotel จะแย่งคู่ข้าวใหม่ปลามันออกไปอีกกลุ่มหนึ่ง และในช่วงทดลองโปร ก็มีบริการเสริมให้ในกรณีที่คู่ใดทะเลาะระหองระแหงกันโดยการแถม “ลูก” ให้ไปเลี้ยงดูร่วมกันหนึ่งคน (“Children can be provided,”) มันทำให้เราเข้าใจเลยว่า นี่นั่นเอง ที่เราได้ยินมาแต่เด็กว่า “ลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจของพ่อแม่”
ประเด็นลูกเป็นกาวใจทำให้เราครุ่นคิดต่อไปอีกว่า สรุปแล้วสิ่งที่ทำให้คู่ชีวิตคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันไปตลอดรอดฝั่งมันไม่ใช่ความรักหรอกเหรอ มันคือลูกหรอกเหรอ แล้วบางคู่มีลูกด้วยกันแล้วก็ยังเลิกรากันได้อยู่ดี สรุป… คนเราต้องการอะไรจากความสัมพันธ์ลักษณะนี้กันแน่? แค่มีลูกไว้สืบสายวงศ์ตระกูลหรือมีคนมาเลี้ยงดูดูแลเราตอนแก่เฒ่าเท่านั้นกระนั้นหรือ?
ความพยายามทั้งหลายแหล่ในหนัง The Lobster ทำให้เราเห็นว่า ความสัมพันธ์ของคนหลายคู่ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักเสมอไป บางคนต้องการมีความรักและตามหาคู่ชีวิตเพียงเพราะ “ไม่อยากอยู่คนเดียว” คิดว่าการอยู่คนเดียวนั้นแสนเหงาและลำบาก
หลายคนจึงเลือกจิ้มๆ คนที่ดูโอเคที่สุดในรัศมีตัวเองแล้วก็จีบๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยลงหลักปักฐานกัน มิหนำซ้ำบางคู่ก็ต้องเสแสร้งว่ารักกันดี เพื่อภาพลักษณ์ของครอบครัวให้ดูดีในสายตาต่อคนรอบข้างหรือกระทั่งให้พ่อแม่สบายใจว่าเราเป็นฝั่งเป็นฝามั่นคง
ในขณะที่สำหรับบางคน… ถึงแม้เขาจะรู้อยู่แก่ใจแหละว่า การอยู่คนเดียวเหงาๆ มันยาก แต่การหาพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสมจริงๆ นั้นก็ยากพอๆ กัน มีปัญหาเหมือนกันถึงแม้จะคนละรูปแบบก็ตาม (“It’s so hard to be alone but so hard to find a true partner too,”)
ดังนั้น บางคนเขาก็คงเลือกของเขาแล้วล่ะว่า ความปลอดภัยหรือความมั่นคงในชีวิตไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด หากแต่คือความอิสระและการเป็นตัวเองต่างหากที่เขา value พูดง่ายๆ คือ ถ้าหาคนที่เข้ากันและให้เราเป็นตัวเองด้วยไม่ได้ การอยู่คนเดียวและกลายเป็นสัตว์ มันก็อาจจะดีกว่าสำหรับเขา ถ้าการเป็นโสดตลอดชาติมันจะมีปัญหาจริงๆ ล่ะก็…มันก็เป็นปัญหาของเขาคนเดียวอยู่ดี ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของใคร
เพราะอย่างน้อยการอยู่คนเดียว เขาก็จะมีอิสระ ไม่มีใครมาบังคับให้ทำหรือไม่ทำอะไร เป็นอะไรก็ได้ที่ตัวเองอยากเป็น และได้คงความเป็นตัวเองเอาไว้ ดังนั้นในหนัง เราจะได้เห็นสัตว์นานาชนิดเดินโดดเดี่ยวร่อนไปร่อนมาในหลายๆ ซีน เช่น นกยูง กระต่าย อูฐ นกฟลามิงโก้ ฯลฯ และก็ได้แอบนั่งคิดเล่นๆ อยู่คนเดียวว่า สัตว์หรือคนที่ “หาคนคู่ไม่ทัน” ทั้งหลายเหล่านี้… เขาเป็นคนยังไง และทำไมถึงเลือกเป็นสัตว์ชนิดนี้
เช่น สาวผมสวยนมสวยคนหนึ่งในเรื่อง เธอเป็นคนที่สวยเลยแหละ แต่กลับไม่มีใครเข้ามาจีบและหาคนที่เข้ากับเธอไม่ได้เลย ในขณะที่เพื่อนรักของเธอ ซึ่งสวยน้อยกว่าเธอ แถมยังมีปัญหาบกพร่องทางร่างกาย กลับมีแต่คนมาขอเต้นรำด้วย และสุดท้ายก็ทิ้งเธอ…หลงลืม…ละเลยเธอไปมีคู่ชู้ชื่นสบายอุราอยู่คนเดียว (เออ พวกที่มีแฟนแล้วลืมเพื่อน ควรไปดู) จนกระทั่งวันที่ 45 สาวสวยคนนั้นก็เลือกที่จะเป็นลา (หรือม้าวะ?) ที่ยังคงมีขนบลอนด์สลวยสวยเก๋ที่เธอรักและภูมิใจปกคลุมช่วงต้นคอของเธออยู่ต่อไปชิกๆ
ดังนั้น สำหรับเรา… หลังจากดูหนังเรื่องนี้… เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วคนมีคู่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จกับความรักเสมอไป คนที่ไม่มีคู่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นคนที่ล้มเหลวกับความรักเสมอไป คนที่มีความสุขที่สุดคือการได้อยู่กับ “คนที่ใช่” คุยภาษาเดียวกัน และเรายังได้ “เป็นตัวของตัวเอง” ไปด้วย โดยไม่ต้องฝืนพยายามหรือเสแสร้งแกล้งทำต่างหาก
เพราะไม่ว่าจะมีคู่หรือไม่มีคู่ ท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตมันก็ไม่มีอะไรแน่นอนอยู่ดี คนที่เข้ากันได้วันนี้ วันหน้าอาจจะเข้ากันไม่ได้แล้วก็ได้ จริงมั้ย?
สุดท้ายท้ายสุด สิ่งที่เราชอบอีกอย่างหนึ่งของ The Lobster ก็คือ ไม่ว่าคู่ไหนหรือคนไหนจะมีปัญหา เช่น ผู้จัดการโรงแรมทำอย่างไรหลังจากรู้ว่าสามีของเธอโกหกเธอ สาวเลือดกำเดาจัดการอย่างไรกับคุณแฟนหลังจากค้นพบว่าเขาเฟคใส่เธอเรื่องเลือดกำเดาเสมอมา หรือชายหนุ่มจะยอมทำให้ตัวเองตาบอดตามหญิงสาวที่เขาหลงรักด้วยหรือเปล่า ฯลฯ หนังจะไม่เฉลยคลี่คลายปมอย่างชัดแจ้งให้คนดูเลย แต่กลับทิ้งไว้ให้คนดูคิดต่อเองจนกระทั่งนาทีสุดท้าย…
เพราะชีวิตสามารถเป็นไปได้หลายทาง… อยู่ที่เรากำหนดเอง…
The Lobster บทดี ภาพสวย โดนใจ คะแนนตามความชอบส่วนตัว 8.5/10 : [usr 4.25 text=”false”]
The Lobster เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 19 พ.ย. 2015
ป.ล. Colin Farrell นี่ตัวจริงจริงๆ หล่อนะ แต่พอมาเล่นเรื่องนี้คือทุ่มมาก ทุ่มขุนตัวเองจนเป็นตาลุงอ้วนพลุ้ยลงพุง ลุคเนิร์ดๆ แบบ Joaquin Phoenix ในเรื่อง Her อีกต่างหาก ยอมใจเขาเลยจริงๆ
ป.ล. (2) ถ้าใครอยากเห็นสาวบอนด์คนล่าสุดในสภาพมอมแมม และดูหนุ่มไอที Q สุดเนิร์ดน่ารัก จาก James Bond ล่ะก็… เตรียมตัวตีตั๋ว The Lobster ได้เลยจ้า
95 comments