The Post หนังเข้าชิงออสการ์ 2 สาขา (Best Motion Picture of the Year และ Best Performance by an Actress in a Leading Role – Meryl Streep) เสมือนหนังร่วมสานต่ออุดมการณ์ของ Spotlight ซึ่งเข้าชิงออสการ์ 6 สาขา และได้รับรางวัล 2 สาขา รวมถึงรางวัลใหญ่ที่สุดอย่าง Best Motion Picture of the Year เมื่อต้นปี 2016 ที่ผู้สื่อข่าวและประชาชนควรดู
ใน The Post ผลงานกำกับของพ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด Steven Spielberg (จาก Jaws, E.T., Jurassic Park, Saving Private Ryan ฯลฯ) พาย้อนกลับไปช่วงปี 1971 เล่าเรื่องทีมข่าว The Washington Post (และ The New York Times) เปิดเผยเอกสารลับเพนตากอน (หมายถึง “Pentagon Papers” หรือ “Report of the Office of the Secretary of Defense Vietnam Task Force”) ซึ่งเป็นรายงานที่เป็นหลักฐานว่ารัฐบาล (ตั้งแต่สมัย Dwight D. Eisenhower, John F. Kennedy, Lyndon B. Johnson, และ Richard Nixon รวม 4 สมัยติดต่อกัน) โกหกหลอกลวงโลกเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม (Vietnam War) (1955-1975) มากว่ายี่สิบปี (1945-1967)
บท The Post เขียนโดย Liz Hannah และ Josh Singer (ผู้เขียนบท Spotlight จนชนะรางวัลออสการ์สาขาบทยอดเยี่ยมมาแล้ว) เริ่มเล่าตั้งแต่ Daniel Ellsberg (Matthew Rhys จาก Burnt) แอบลักลอบเอาเอกสารลับออกมาให้นักข่าว The New York Times ส่งผลให้รัฐมนตรีกลาโหม Robert McNamara (Bruce Greenwood จาก Star Trek) และรัฐบาล Nixon ต้องเดือดร้อน
ถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองที่ค่อนข้างน่าตึงเครียด แต่ Steven Spielberg ก็เล่าเรื่องและทำหนังออกมาได้สนุก บันเทิง น่าติดตาม และมีอารมณ์ขันอยู่เรื่อย ๆ อย่างรู้จังหวะ ไม่น่าเบื่อเลยสักนิด (มีช่วงแรก ๆ ที่เราอาจตามไม่ทันบ้าง งงบ้าง เพราะเรามีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองบ้านเขาน้อยเอง แต่พอเริ่มปะติดปะต่อเรื่องได้แล้ว โอ้โห~ มันสนุกมาก!)
สองตัวละครหลักที่เป็นตัวดำเนินเรื่องคือ เจ้าของสำนักพิมพ์ The Washington Post ณ ตอนนั้น Katharine “Kay” Graham (Meryl Streep ผู้เข้าชิงออสการ์…หากรวมเรื่องนี้ด้วย…ก็ชิงมาแล้ว 21 สมัย! และคว้ารางวัลมา 3 ครั้งด้วยกัน) และ บ.ก.ข่าวของเธอ Ben Bradlee (Tom Hanks เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Forrest Gump) ผู้ซึ่งยอมทุกอย่างเพื่อที่จะได้มาซึ่งเอกสารลับและเผยแพร่มันให้โลกรู้
“Quality and profitability go hand in hand.”
Kay เป็นตัวละคร Feminist ที่เหมาะกับ Feminist อย่าง Meryl Streep ที่สุด เธอได้รับตำแหน่งนี้หลังจาก Philip Graham สามีของเธอยิงตัวตาย (จริง ๆ Eugene Meyer บิดาของ Kay เอง เป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์นี้ แต่ตอนเขาเสียชีวิตแล้ว เขายกให้ลูกเขยดูแล้วแทนที่จะให้ลูกสาวในไส้) ถึงแม้จะมีตำแหน่ง มีฐานะร่ำรวย มีหน้ามีตาในสังคมชั้นสูง และซี้กับคนใหญ่คนโต เธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก เพราะเธอเป็นผู้บริหารหญิงคนเดียวในบอร์ด และไม่มีผู้ชายคนไหน (นอกจาก Bradlee) ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิงอย่างเธอ ในห้องประชุมบอร์ดช่วงแรก เธอยังไม่กล้าจะออกความเห็นเสียด้วยซ้ำ เธอต้องเดินตามหลังผู้บริหารชาย บางครั้งก็เหมือนเธอแทบไม่มีตัวตน ณ ตรงนั้น
Kay ต้องพยายามพยุงให้บริษัทที่เป็นของตระกูลอยู่รอดโดยการเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างย้อนแย้ง เพราะธรรมชาติของนักลงทุนหรือพวกแมงเม่าในตลาดซื้อขายนั้น เขาจะต้องคิดถึงแต่ตัวเงินหรือผลกำไรเท่านั้น แต่สำหรับผู้สื่อข่าวนั้น เรื่องเงินหรือการแสวงผลกำไรไม่ควรสำคัญเท่าจรรยาบรรณหรือหน้าที่ในการเป็นกระบอกเสียงและเป็นหูเป็นตาให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและมีคุณภาพแก่ประชาชน (แต่ก็เข้าใจว่ามันจำเป็นที่ Kay ต้องทำทั้งสองอย่างให้ไปด้วยกันให้ได้) ดังนั้นการตัดสินใจของ Kay ที่จะตีพิมพ์หรือไม่ตีพิมพ์เอกสารลับเพนตากอน เป็นเรื่องที่เสี่ยงที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผู้หญิงคนหนึ่งและผู้บริหารคนหนึ่งจะกระทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่บริษัทเพิ่งเข้าตลาดหุ้นและ The New York Times ก็เพิ่งโดนรัฐบาลฟ้องจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลไปหมาด ๆ
การแสดงของ Meryl Streep ผู้เข้าชิงออสการ์มาแล้ว 21 ครั้ง คงไม่ต้องพูดเยอะ เธอทรงพลังมากจริง ๆ และทำให้เรารู้สึกว่าเธอกำลังเป็น Kay อยู่จริง ๆ ประกอบกับการถ่ายภาพของ Janusz Kaminski (เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Saving Private Ryan) ก็ยิ่งขยี้อารมณ์ของตัวละครและเรื่องราวในหนังแต่ละซีนได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เช่น ตอนที่ Kay กำลังตัดสินใจเรื่องใหญ่นี้ กล้องค่อย ๆ แพนไปที่หน้าของเธอ สื่อถึงอารมณ์ที่กดดันขึ้นทุกวินาที
“The only way to protect the right to publish is to publish!”
เราชอบการเล่าเรื่องของหนังที่ตอกย้ำถึงพลังของ “สื่อ” หรือ “The pen (อันหมายถึงคำพูดหรือตัวหนังสือ)” กล่าวคือ เมื่อคำใดได้เผยแพร่ออกไปแล้ว มันย่อมส่งผลกระทบตามมา ไม่ใหญ่ก็เล็ก ไม่มากก็น้อย ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของปากกาหรือสื่อนั้นต้องเตรียมตัวเตรียมใจ ไตร่ตรองก่อนเผยแพร่ และพร้อมจะรับผิดชอบในผลลัพธ์จากการเผยแพร่นั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่หนังจะเล่าเรื่องส่วนนี้ออกมาเป็นภาพหมดเลย คือเป็นภาพที่สื่อถึงพลังของ power of a pen เช่น พอตัวเอกสั่งตีพิมพ์ปุ๊บ เครื่องจักรถูกเปิดทำงาน ออฟฟิศมันก็สะเทือนเลือนลั่นครืน ๆ สื่อถึงความสั่นคลอนหรือความไม่มั่นคงอีกต่อไปแล้วหลังจากตัดสินใจปล่อยข่าวลับนี้ และอีกหลาย ๆ ซีน ที่มันสื่อถึงผลกระทบของการใช้สื่อจริง ๆ อยากให้ทุกคนลองไปตั้งใจดู ในฐานะที่เราต่างก็เป็นผู้ใช้สื่อ
แต่ประเด็นหลัก ๆ ที่เป็นแก่นสารที่หนังต้องการจะสื่อ หากเราไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ นั่นก็คือ เสรีภาพของสื่อ (และสิทธิของสตรี ที่แอบกล่าวไปแล้วในย่อหน้าก่อนหน้า) ซึ่งเราต้องบอกเลยว่า ในปัจจุบัน ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย อย่างอเมริกาและไทย กำลังต้องการหนังแบบนี้… และต้องการทีมข่าวอย่างในหนัง The Post และ Spotlight เหลือเกิน
“The founding fathers gave the free press the protection it must have to fulfil its essential role… to serve the governed, not the governors”.
ในช่วงนาทีสุดท้ายของหนัง เหมือนจะแอบบอกเป็นนัย ๆ ว่า ยังมีเรื่องกรณี Watergate สมัยรัฐบาล Nixon อีกที่ผู้กำกับอยากจะเล่า ทั้งนี้เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า เขาจะสร้างภาคสองเกี่ยวกับประเด็น Watergate ต่อด้วยหรือไม่ แต่ถ้ามี เราก็รอดูแน่นอน เพราะเราชอบหนังแบบนี้ และอย่างที่บอก… ประเทศเรากำลังต้องการหนังแบบนี้!
ในแง่ของอารมณ์และความรู้สึก ด้วยความที่เราค่อนข้างอินกับเสรีภาพสื่อและสืทธิสตรี เราอยากให้คะแนน 10-10-10 และปรบมือดัง ๆ ให้หนังยาว ๆ (ใช้ใจล้วน ๆ) แต่หลังจากตกตะกอนและใช้เหตุผลร่วมด้วยแล้ว The Post ถือเป็นหนังที่ดีมาก แถมเป็นหนังรางวัลที่ย่อยง่ายและดูสนุก แต่ก็ยังไม่ถือเป็นมาสเตอร์พีซของมาตรฐาน Steven Spielberg สตรองน้อยกว่า Spotlight (แต่ก็บันเทิงกว่านะ) และยังยากที่คนอ่อนประวัติศาสตร์และการเมืองอเมริกาอย่างเราจะเข้าถึงได้ง่ายในช่วงเริ่มเรื่อง
คะแนนตามความชอบส่วนตัว หลังจากใช้สมองควบคู่กับหัวใจแล้ว ขอให้ที่ 8.5/10
40 comments
Comments are closed.