The Scorch Trials (2015) เป็นหนัง sequel ของ The Maze Runner (2014) ซึ่งสร้างจากหนังสือขายดี หรือนิยายดิสโทเปีย YA ไตรภาคของนักเขียน James Dashner
ย้ำว่ามันเป็นภาคต่อจริงๆ เลยนะ **ถ้าไม่ดูภาคแรกมาก่อนนี่อาจงงหรือดูไม่รู้เรื่องได้**
ความเดิมภาคที่แล้วมีอยู่ว่า มีเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่งถูกจับไปอยู่รวมกันในพื้นที่แห่งหนึ่งโดยมีกำแพงไททัน เขาวงกต และแมงมุมยักษ์ขังกั้นพวกเขาไว้จากโลกภายนอก จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขาก็หาทางหนีออกไปจากเขาวงกตนั้นได้ แล้วการผจญภัยครั้งใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นใน The Scorch Trials นี้นั่นเอง
The Maze Runner : หนัง VS. หนังสือ - http://www.kwanmanie.com/the-maze-runner-differences-between-movie-book/ The Maze Runner: ที่มาของชื่อตัวละคร - http://www.kwanmanie.com/the-maze-runner-characters/
เรื่องย่อ The Scorch Trials
หลังจากหนีออกจาก The Glade และหลุดพ้นจาก The Maze ได้แล้ว ชาว Gladers บอยแบนด์ผู้รอดชีวิต ได้แก่ Thomas (Dylan O’Brien จาก Teen Wolf), Newt ( Thomas Brodie-Sangster จาก Love Actually, Game of Thrones), Minho (Ki Hong Lee), Frypan (Dexter Darden), Winston (Alexander Flores), และหญิงสาวหนึ่งเดียวของแก๊ง Teresa (Kaya Scodelario จาก Moon) ก็ได้รับการช่วยเหลือขึ้น ฮ.
พวกเขาถูกพาไปอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ภายใต้การควบคุมดูแลของ Janson (Aidan Gillen จาก Game of Thrones) ที่นั่นมีเด็กแบบพวกเขาอยู่มากมาย แต่ละกลุ่มก็มาจากคนละเขาวงกต ซึ่งตอนแรกอะไรๆ ที่นี่ก็ดูเหมือนจะปลอดภัยและสุขสบายดี
จนกระทั่ง Thomas ได้รู้จักกับ Aris หรือ Aristotle (Jacob Lofland จาก Mud) เด็กหนุ่มคนแรกที่ถูกพามาที่นี่ พวกเขาจึงได้รู้ว่า ตัวเองกำลังหนีเสือปะจระเข้ เพราะตาลุง Janson ร่วมมือกับเจ๊ Ava Paige (Patricia Clarkson จาก Shutter Island, The Green Mile) จอมร้ายกาจแห่งองค์กร WCKD (World Catastrophe Killzone Department a.k.a. WICKED)
ทุกคนพากันหลบหนีออกไปข้างนอก… ไปสู่โลกที่ลุง Janson เรียกว่าดินแดน The Scorch Trials เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ทะเลทรายร้อนระอุ แถมยังมีฝูงซอมบี้ Cranks (หรือผู้ติดเชื้อไวรัส Flare) เกลื่อนเมืองไปหมด
Thomas และผองเพื่อนต้องวิ่งหนีตายทั้งจากพวก WICKED, ผีดิบ Cranks, และภัยธรรมชาติ กันอย่างไม่รู้จุดหมายปลายทางที่แน่ชัด จนไปพบกับกลุ่มของ Jorge (Giancarlo Esposito) และ Brenda (Rosa Salazar จาก Insurgent)
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ The Scorch Trials
หลังจากหมดยุคหนังคาวบอย ปัจจุบันก็คงจะเป็นยุคของหนัง Super Hero อย่างหนังในจักรวาล Marvel และในขณะเดียวกันก็เป็นยุคของหนังแนว Dystopian อย่าง The Hunger Games หรือ Divergent ด้วย
หนังหรือหนังสือที่ต้องจำลองโลกอนาคตอันโหดร้ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่แปลกที่เราจะได้เห็นอะไรที่คล้ายๆ กัน หรือซ้ำๆ กันระหว่างเรื่องนั้นกับเรื่องนี้ เช่น อย่างที่เราเห็นใน The Scorch Trials ก็ไม่ใช่ไอเดียใหม่อะไร รวมๆ ก็เหมือน Mad Max: Fury Road + Divergent + World War Z
ทีนี้ พอมันมีความละม้ายกับ Mad Max: Fury Road งานเลยยากละ เพราะ Mad Max: Fury Road ซึ่งเพิ่งฉายไปเมื่อต้นปีเดียวกัน เขาทำไว้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของโลก post-apocalyptic ที่เป็น wasteland หรือฉากการใช้ความเร็วไล่ล่ากลางทะเลทราย
แต่ทั้งนี้ เราไม่ได้กำลังจะบอกว่า ทะเลทรายของ The Scorch Trials มันแย่นะ เอาจริงๆ งาน CGI ของเขาสวยมากจริงๆ สวยมากกกกก อลังการงานสร้าง คือมันดูแพงอยู่แล้ว ไม่ต้องแพงกว่านี้ก็ได้ (เพราะไม่งั้นความสวยของฉากอาจจะขโมยซีนหน้าหล่อๆ ของเหล่านักแสดงไปเปล่าๆ อิอิ)
อีกอย่างเราไม่ควรเอาหนังสองเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกันซะทีเดียว คิดดูสิ Mad Max: Fury Road ใช้รถนานาพันธุ์วิ่งไล่ล่ากันดุเดือด แต่เรื่อง The Scorch Trials ใช้หน้าแข้งคนวิ่ง มันคนละสเกลกันแต่แรกแล้ว ความสนุกตื่นเต้นมันก็ต้องคนละฟีลเป็นธรรมดา
นอกจากนี้ ฉากการไล่ล่าของ Mad Max: Fury Road มันโตกว่าเรื่องนี้ เพราะกลุ่มพระนางที่ขับรถหนีตัวร้ายนั้น มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนกว่า และแต่ละคนก็มีสกิลอันช่ำชองแล้วทั้งนั้น
เด็กๆ ใน The Scorch Trials คือเด็ก ผ่านโลกมาไม่มาก อยู่แต่ในรู ความทรงจำก็มีน้อยนิด เด็กคิดและทำอะไรได้ไม่มาก นอกจากวิ่งหนีปัญหาหรือภัยอันตรายไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง (What’s your plan?) พวกเขาไม่มีแพลนอะไรซับซ้อนมาก ขอแค่ต้องการไปให้พ้นๆ จากที่นี่ หาที่ใหม่ที่ดีกว่า และใช้กำลังวังชาของหนุ่มสาว (มากกว่าสกิลการต่อสู้) ช่วยในการเอาตัวรอด
ส่วนที่บอกว่าเหมือน Divergent ก็เหมือนแค่มีตัวร้ายเป็นหมอหรือนักวิทยาศาสตร์หญิง กล่าวคือ ตำแหน่งของ Patricia Clarkson เหมือนๆ กับตำแหน่งของ Kate Winslet ใน Divergent อะ พวกนางมีองค์กรที่นางชักใยอยู่เบื้องหลัง และมีแผนงานวิจัยที่เลวร้ายตรงที่ใช้มนุษย์จริงเป็นหนูทดลอง (เออ แต่โลก Dystopia ของหนังสองเรื่องนี้นี่ไม่เห็นสิงสาราสัตว์เลยนะ มีใครเห็นหมูหมากาไก่ในเรื่องบ้างปะ)
ส่วนที่บอกว่าเหมือน World War Z ก็ไม่มีอะไรมาก เหมือนก็ตรงที่มีฝูงซอมบี้ความเร็วสูงคอยดักกินเราอยู่เกลื่อนเมืองไปหมดนี่แหละ ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากวิ่งหนี และระวังไม่ให้ถูกกัดหรือถูกข่วน เพราะไม่งั้นจะติดเชื้อและต้องกลายเป็นซอมบี้ตามสูตร อย่างไรก็ดี ซอมบี้ใน The Scorch Trials นี่ยังดีที่ตายง่ายหน่อย ไม่จำเป็นต้องเล็งศีรษะเป๊ะๆ เหมือนหนังซอมบี้ทั่วไปที่เคยดู
แต่ไม่ว่า The Scorch Trials จะดึงเอาจุดเด่นของหนังดิสโทเปียหลายเรื่องมามิกซ์และปรับใช้เป็นเรื่องใหม่ของตัวเองมากน้อยยังไง มันก็ยังคงคอนเซปต์และกิมมิคของความเป็นซีรีส์ The Maze Runner เอาไว้ โดยเฉพาะ “การวิ่งๆๆ”
อย่างที่บอกไปแล้วนั่นแหละ… เรื่องนี้คือหนุ่มๆ ของเราต้องวิ่งหนีกันอุตลุด ทั้งหนีคน หนีซอมบี้ และหนีอันตรายจากภัยธรรมชาติ วิ่งหนักมากกว่าภาคที่แล้วอีก คือวิ่งมันทั้งเรื่องราวกับอยู่ในเกม Cookie Run
ในส่วนของคอนเซปต์เรื่อง The Maze นั้น ในภาคนี้ตัวละครอาจจะไม่ได้วิ่งอยู่เขาวงกตจริงๆ เหมือนภาคแรก แต่โลเกชั่นใหม่ในภาคนี้ ถ้ามองดูให้ลึกลงดีๆ มันก็ไม่ได้ออกไปจากความเป็น The Maze เท่าไหร่เลยนะ
ในตอน The Maze Runner นั้น ตัวละครแต่ละตัวเหมือนยังอยู่ในชีวิตในวัยเด็ก มีชีวิตอยู่ในกรอบ ใช้ชีวิตเรียบง่าย ยังอ่อนต่อโลก อ่อนต่อประสบการณ์ ไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน (ถึงแม้จะเกิดมานานจนกายภาพเป็นวัยรุ่นวัยเจริญพันธุ์แล้ว แต่สมองหรือความทรงจำถูกล้างเกลี้ยงก่อนมาอยู่ใน The Glade)
ดังนั้น “The Maze” หรือความสับสน รวมถึงปัญหาในวัยเยาว์มันจะไม่มีอะไรมาก นอกจากความใคร่รู้ใคร่ลอง อยากสยายปีกไปดูโลก ไม่อยากถูกขังหรือถูกตีกรอบ (โดยเฉพาะอี Thomas นี่ตัวดีเลย) แล้วอีสัตว์ประหลาดตัวร้าย หรือ Griever ที่มาทำร้ายเด็กๆ ในภาคแรกนั้น หน้าตามันจึงยังค่อนไปทางแฟนตาซี (grieve แปลว่า sadden, distress)
เพราะโลกแห่งความเป็นจริงมันโหดร้าย พอหลุดเข้ามาใน The Scorch Trials สเกลมันใหญ่ขึ้น เด็กๆ ได้ก้าวข้ามผ่านมาสู่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ดังนั้น “The Maze” หรือความสับสน รวมถึงปัญหาจะเริ่มซับซ้อนขึ้น และเยอะสรรพสิ่งมากขึ้นจนเหมือนโดนรุมเร้า
อย่างใน The Scorch Trials นี้ เราก็จะได้เห็นว่าหนุ่มๆ ของเราก็มีหลงไปกับอบายมุขหรือสตรีเพศด้วยบางจังหวะ ถือเป็นหนึ่งในอีกก้าวของการเติบโต นอกจากนั้นยังมีความกลัวที่สำคัญเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือ “กลัวความตาย” และต้องพยายามต่อสู้เพื่อ “อยู่รอด”
และแน่นอนว่า พอสังคมมันใหญ่ขึ้น โลกมันก็อยู่ยากขึ้น เราต้องเจอคนมากขึ้น แล้วอย่างที่เขาว่าภัยที่อันตรายที่สุดในโลกก็คือมนุษย์ด้วยกันนี้เอง นั่นแปลว่า เด็กๆ ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าสังคม ช่วยเหลือเอาตัวรอด และตริตรองให้ดีก่อนจะ “เชื่อใจ” ใคร แม้แต่คนที่เรารัก หรือคนที่เราเรียกว่า “เพื่อน” ก็ใช่ว่าจะ “ไว้วางใจ” ได้เสมอไป
“The Flare destroyed your brain, slowly driving you insane and stripping you of the capacity to feel basic human emotions like compassion or empathy.”
ซอมบี้ปรากฏอยู่ในหนังหลายเรื่อง รวมถึงหนังสือ การ์ตูน และวิดีโอเกมก็ด้วย ซอมบี้แทนสัญลักษณ์ตีความได้หลายอย่าง เช่น adolescent angst, puritanism, sexual excess, frustrated ambition, the desire for immortality, consumerism, scientific irresponsibility ฯลฯ (ที่มา http://zombies.monstrous.com/zombies_symbolism/) พูดง่ายๆ ซอมบี้แม่งเหมือนศูนย์รวมนิยามความบ้าคลั่งของมนุษย์จริงๆ
“The Flare always wins in the end”
ส่วนภัยธรรมชาติ เช่น โลกร้อน พายุทราย หรือฟ้าผ่า เปรียบเสมือนปัญหาที่เด็กๆ คอนโทรลไม่ได้ และบางครั้งก็มักจะมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งปัญหาลักษณะนี้เป็นอะไรที่มนุษย์ทั่วไปต้องเผชิญ และต้องฝึกรับมือกับมันให้ได้ถึงแม้จะควบคุมมันไม่ได้ก็ตาม
พล็อตโดยรวมถือว่าแตกต่างจากต้นฉบับหนังสือของ James Dashner อยู่มาก แต่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่โอเคนะ ก็สนุกไปอีกแบบดี เรื่องของความบันเทิงนี่ The Scorch Trials จัดได้ว่าไม่ผิดหวังเลย โดยเฉพาะภาคนี้เขาเน้นวิ่งกันมากขึ้น และมีฉากบู๊แอ็คชั่นเพิ่มขึ้น คือจู่ๆ ชาว Gladers ของเจ้ทุกคนก็ใช้ปืนผาหน้าไม้กันได้ so skillful อย่างน่าประหลาด แต่ก็เอาเถอะ นั่นไม่ใช่ประเด็น เห็นผู้ชายเก่งขึ้น…เราก็ดีใจ
ในภาคนี้ ถึงแม้ความเด่นสุดหรือตัวดำเนินเรื่องหลักยังคงเป็น Thomas (Dylan O’Brien) แต่หนังก็ได้กระจายบทบาทให้ Gladers คนอื่นๆ มากขึ้น แต่ละคนเริ่มมีประโยชน์เป็นของตัวเอง แม้แต่บทเล็กๆ อย่าง Frypan และ Winston ก็ได้รับการใส่ใจมากขึ้น ทั้งๆ ที่ในภาคแรกสองคนนี้แทบไม่ได้รับการ mention ชื่อ และแทบไม่มีบทบาทเท่าไรเลยนอกจากวิ่งตาม leaders ไปวันๆ
ซึ่งการกระจายบทดังกล่าว มันก็เป็นเรื่องดีแหละ ทำให้หนังดู “นานาชาติ” ดีด้วย
แต่ถึงกระนั้น เราก็แอบเสียดายเล็กๆ ตรงที่บทบาทของ Minho กับ Newt ของเรา เหมือนจะถูกลดลงเบาๆ คือภาคนี้ได้เห็นหน้าหล่อๆ และคำพูดคมๆ ของสองหนุ่มหล่อขวัญใจมหาชนน้อยลงแหละ (แถม Newt ยังพูดคำว่า “bloody” น้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่พังค์เลย) คือรวมๆ ก็ยังเด่นอยู่นะ อย่าง Minho นี่ได้ใจไปหลายช็อตเลย แต่ติ่งอย่างเราแค่รู้สึกว่ายังไม่จุใจเท่าไหร่ และอะไรๆ มันคงจะดีกว่านี้มากถ้าเปลี่ยนพระเอก (oops!)
ตัวละครใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา คนแรกคือ Aris ซึ่งหนังดูใช้เขาไม่คุ้มเลย จริงๆ ด้วยแบ็คกราวนด์ของ Aris แล้วเนี่ย เขาน่าจะได้รับความสำคัญมากกว่านี้นะ ตัวละครอื่นๆ เช่น Sonya กับ Harriet ก็เช่นกัน ยังโผล่มาเหมือนตัวประกอบเอ็กซ์ตร้าทั่วไปอยู่เลย (อารมณ์เดียวกับ Frypan และ Winston ในภาคแรก ประมาณนั้น)
ส่วน Aidan Gillen จาก Game of Thrones นี่น่าเสียดายนะ เราว่าเขายังไม่ปังนักสำหรับบท Janson (ถึงแม้หน้าตาของเขาจะดูเป็นบุคคลไม่น่าไว้วางใจตลอดเวลาอยู่แล้วก็เหอะ) แต่จะว่าเขาก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะเอาจริงๆ แล้วหนังก็ดูไม่ค่อยโฟกัสมนุษย์รุ่นลุงป้าเท่าไหร่อยู่แล้วด้วยแหละ
ตัวละครใหม่ที่ดูเด่นขึ้นมาจริงๆ หน่อย ก็เห็นจะมีแต่สาวเท่ผมสั้นนามว่า Brenda เพราะนางคนนี้ต้องอยู่กับ Thomas แทบตลอดเวลา แล้วทั้งเรื่องคือแบบ… อีตา Thomas ไปไหน กล้องก็ต้องถ่ายตาม เก๊ตปะ (ถึงได้บอกให้เปลี่ยนพระเอก!) ส่วน Teresa นางก็ยังอยู่ของนางนั่นแหละ ตัวติดกับ Thomas น้อยลงจากภาคแรก แต่ความสำคัญของนางไม่ได้ลดน้อยถอยลง
แต่…โปรดอย่าถามฉันว่า ตกลงใครเป็นนางเอกกันแน่ เพราะทุกวันนี้ฉันนั่งอ่าน (และดู) เรื่องนี้แล้ว ฉันยังอยากจะกรี๊ดและส่งอีเมลไปถามคนแต่งอยู่เลยว่า “สรุปโลกนี้ผู้หญิงยังจำเป็นอยู่มั้ย!!!”
โดยสรุป The Scorch Trials เนื้อเรื่องก็ดิสโทเปียทั่วไป เห็นเยอะจนชินจนเฉยละ ไม่มีอะไรแปลกใหม่น่าสนใจ แต่สนุก ถึงแม้หนังจะแตกต่างจากหนังสือต้นฉบับไปหลายพันลี้ แต่ก็ยังตอบโจทย์ความบันเทิงได้ดี
เรื่องผู้ชายหล่อคงไม่ต้องพูดถึง แค่เข้าไปดูผู้ชายวิ่งก็คุ้มค่าตั๋วละ แต่ถ้าใครไม่กรี๊ดนักแสดงหนุ่มหล่อๆ ก็ยังสามารถดูเพลินๆ ได้อยู่เช่นกัน เพราะหนังเขาภาพสวย CGI ชั้นเลิศ สมจริงสุด และรับประกันความมันความตื่นเต้นค่ะ ผู้ชายของเราเขาขยันวิ่งๆๆ วิ่งกันตลอดเรื่องชนิดแทบไม่ได้หยุดพักหายใจ
ส่วนการเปรียบเทียบระหว่างภาคนี้กับภาคก่อนนั้น เราว่าคงไม่ต้องให้เปรียบเทียบกับภาคแรกหรอกเนอะ เพราะถึงแม้มันจะเรื่องราวต่อกัน แต่มันก็ดูคนละสเกลตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ละภาคมันก็ทำหน้าที่ของมัน (แต่สำคัญมาก ควรดูหรือรู้เรื่องภาคแรกมาก่อนจะดูภาคนี้นะ!) โดยส่วนตัวมองว่า ความสนุกของทั้งสองภาคก็พอๆ กันนั่นแหละ แล้วแต่คนชอบ อย่างเรา เราชอบ Newt กับ Minho งี้ อะไร้อะไรมันก็ดี๊ดี จบ.
สำหรับ The Scorch Trials คะแนนตามความชอบส่วนตัว เราก็ให้เท่าๆ กับภาคแรกเมื่อปีที่แล้วนั่นแหละ คือ 7.5/10 (ทั้งนี้ ยังไม่รวมคะแนนพิศวาสผู้ชายในเรื่อง)
เออ ขอติงอีกนิดนึงคือ หนังยาวไปหน่อย (สองชั่วโมงครึ่งไม่รวมโฆษณา) จนบางช่วงนี่ก็แอบเบื่อ (เออ เบื่อตรงช่วงที่มันไม่ได้วิ่งนั่นแหละ) แต่อย่างไรก็ตาม โดยรวมก็ยังคงเป็นหนังที่ดูสนุกอยู่ คุ้มอยู่ ไม่เสียดายตังค์ แถมตอนตัดจบก็ทำได้ช็อคอยู่ คือมึงจะจบแบบนี้จริงๆ หรอ ช็อคจริง นี่ออกมาแล้วอยากจะไปขอซื้อตั๋วภาค 3 ดูต่อตอนนี้…เดี๋ยวนี้เลย
ดังนั้น ไม่ว่าจะยังไง เราก็รอดูภาคจบปีหน้าแน่นอนค่ะ ด้วยความหวังลึกๆ ว่า ตัวละครของเราจะโตขึ้นและมีพัฒนาการขึ้นไปอีกขั้น เพราะเห็นนางบอกนางจะเลิกวิ่งหนีแล้วค่ะ นาง tired of running แล้ว น่าสนใจออก
ป.ล. ภาคจบใช้ชื่อว่า The Death Cure จะเป็นตอนเดียวจบ ไม่แยกเป็น part 3.1 และ 3.2 แบบหนังหลายภาคจบเรื่องอื่นๆ แถวนี้ ขอบคุณค่า~
The Maze Runner: The Scorch Trials เข้าฉายแล้ว 17 ก.ย. นี้ในโรงภาพยนตร์ทุกระบบ
(แนะนำระบบ 4DX เรื่องนี้คุ้มค่าตั๋วแน่)
39 comments