The Tribe (Ukrainian: Плем’я, Plemya) เป็นหนังเงียบ 20+ ใช้ “ภาษามือของยูเครน” ทั้งเรื่อง เพราะตัวละครมีแต่คนใบ้ ดังนั้น ทั้งเรื่องจะไม่มีบทพูด ไม่มีซับไตเติ้ล และไม่มีแม้กระทั่งสกอร์เพลงประกอบภาพยนตร์
ฟังดูเหมือนเป็นหนังประหลาดและอินดี้ดูยาก แต่ว่าไม่ได้ เพราะ The Tribe ได้ฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส และได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากนักวิจารณ์ทั่วโลก อีกทั้งยังคว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ มาแล้วกว่า 43 รางวัลทั่วโลก

เรื่องย่อ The Tribe
The Tribe เป็นเรื่องราวของนักเรียนวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งในโรงเรียนประจำสำหรับผู้มีปัญหาทางการพูดและการได้ยิน (พูดง่ายๆ คือ หูหนวก และเป็นใบ้) เริ่มเรื่องตั้งแต่เด็กใหม่คนหนึ่งพยายามให้ตัวเองได้รับการเข้ากลุ่มกับแก๊งมาเฟียสุดเฮ้วประจำโรงเรียน แต่มาเฟียแก๊งนี้ไม่ได้แค่กินเหล้า สูบบุหรี่ มั่วเซ็กส์ หรือเป็นแค่ขาใหญ่รังแกคนอ่อนแอทั่วไปเท่านั้น หากแต่ยังออกปล้น ค้ายา และพาเพื่อนสาวร่วมชั้นเรียนไปค้าประเวณีอีกด้วย
เจ้าเด็กใหม่ได้รับมอบหมายให้พาสาวๆ ไปขายบริการแทนคนเก่าที่บังเอิญตายในหน้าที่ แต่เจ้าเด็กใหม่ก็ดันไปหลงรักและมีความสัมพันธ์กับหนึ่งในเพื่อนสาวเข้า เรื่องมันจึงวุ่นวายและยุ่งยากเข้าไปอีก เขาเกิดหึงหวง ไม่ยอมให้ผู้หญิงคนนั้นขายตัวต่อ และแหกกฎทุกอย่างเพื่อจะได้ครอบครองเธอ เขาจึงถูกหัวหน้าแก๊งขับไสไล่ส่งออกจากกลุ่ม
แล้วต่อมา หัวหน้าแก๊งกับอาจารย์ใจบาปมีแผนจะส่งออกสาวๆ ไปขายตัวที่อิตาลี แน่นอนว่าเจ้าเด็กใหม่ก็ย่อมไม่ยอม เข้าไปขัดขวางอย่างเล่นใหญ่ จนโดนทั้งแก๊งรุมยำจนไม่มีชิ้นดี
รีวิว วิเคราะห์ วิจารณ์ The Tribe
เจตนาของ Miroslav Slaboshpitsky ผู้กำกับ The Tribe ไม่ได้ต้องการจะทำหนังสำหรับคนชายขอบหรือคนพิการทุพพลภาพ แต่เขาต้องการทำหนังที่ไม่มีเสียงสื่อสาร ดนตรี รวมถึงคำแปลที่เป็นคำบรรยายใต้ภาพ
ตอนแรกมีความกังวล เพราะไม่เคยดูหนังเงียบมาก่อน ไม่มีทั้งเสียงพูดหรือซับไตเติ้ลช่วยแปลภาษาใบ้ แล้วเราจะดูรู้เรื่องยังไง แล้วจะทนดูจนจบสองชั่วโมงกว่าโดยไม่หลับได้ยังไงไหว
ภาษาใบ้ที่ใช้ในเรื่องเป็นภาษาใบ้ยูเครน (ภาษาใบ้มันก็มีสัญชาติเหมือนภาษาพูดปกติ) ดังนั้น ต่อให้เราเป็นคนไทยที่รู้ภาษาใบ้เวอร์ชั่นไทย ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเข้าใจภาษาใบ้ในเรื่องนี้ทั้งหมด พวกเราทุกคนจะต้องตกเข้าไปอยู่ในสภาพเดียวกัน คือเข้าไปดูภาษาต่างด้าว
ช่วงเปิดเรื่อง เรายังปรับตัวไม่ได้ คือมันเงียบหมดเลย มีแต่เสียงแวดล้อมรอบข้าม (เช่น เสียงรถบรื้นๆ หรือเสียงกระแทกตึงตัง) ก็เลยแอบหงุดหงิดนิดหน่อยในใจ (“ดีออก มึงพูดเชี้ยอะไรกัน มึงทำอะไร กูงง กูไม่รู้เรื่อง”) แต่ก็ค่อยๆ ทำใจอย่างรวดเร็ว โดยคิดซะว่า โอเค นี่ฉันกำลังดูหนังบิตที่เป็นภาษาต่างด้าวและหาโหลดซับไตเติ้ลไม่ได้ แล้วก็ตั้งใจดูให้หนักขึ้นว่าหนังเขากำลังพยายามจะสื่ออะไรกับเรา
พอเริ่มคุ้นชินกับหนัง ไม่นานก็พอปะติดปะต่อเรื่องได้ ประกอบด้วย “ความอยากพยายามที่จะเข้าใจ” ว่าตัวละครซึ่งเป็นใบ้และหูหนวกเนี่ย เขาต้องการอะไร เขาพูดว่าอะไร และกำลังทำอะไร มารู้ตัวอีกที เราก็จมดิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังไปเสียแล้ว บอกเลยว่า “เข้าใจไม่ยาก” และ “ดูไม่ยาก” อย่างที่คิด พูดได้ว่า เราค่อนข้างชอบวิธีการเล่าเรื่องของ The Tribe เลยแหละ
คือถ้าตั้งใจดู ยังไงมันก็เข้าใจอะ เพราะหนังมันก็เล่าเรื่องด้วยภาพได้ดี นักแสดงก็เล่นดี (เอาคนใบ้จริงๆ มาเล่น) แล้วเวลาคนใบ้พูด เขาก็แสดงออกทางสีหน้าท่าทางชัดเจน กล่าวคือพวกเขาใช้ “ทั้งร่างกาย” เพื่อการสื่อสาร
ภาษาใบ้ก็มีโทนของเขา เหมือนการเต้นอะ จังหวะนี้คืออารมณ์เกรี้ยวกราด จังหวะนี้คืออารมณ์อ่อนโยน เป็นต้น แล้วอารมณ์ความรู้สึก จริงๆ มันก็เป็น a universal language ในตัวของมันเองอยู่แล้วด้วย ไม่จำเป็นต้องมีคำแปล ก็พอเข้าใจ
นอกจากนี้ฉากสังวาสในเรื่องก็ถูกใช้อย่างมีความหมายและมีศิลปะ กล่าวคือเขาใช้ฉากเหล่านี้ในการบอกเล่าความสัมพันธ์หรือพัฒนาการของตัวละคร อย่างฉากที่นางเอกมีเซ็กส์กับชายฉกรรจ์ที่ซื้อบริการเธอ ระหว่างกิจกรรมจะไม่มีความพิศวาสเลย มีแต่ความอยากปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ หรือเน้นเอากันมันๆ แรงๆ
ฉากที่พระเอกกับนางเอกมีเซ็กส์กันครั้งแรก ก็ดูเงอะๆ ทื่อๆ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีฟีลลิ่ง เริ่มมีอินเนอร์ (แถมมีท่ายากอีกต่างหาก) และฝ่ายหญิงจะไม่ได้เป็นแค่ “ฝ่ายถูกกระทำ” หรือ “ทำให้เพศชายฝ่ายเดียว” อีกต่อไป หากแต่จะผลัดกันทำให้กันและกัน แสดงให้เห็นถึงความรักที่กำลังเบ่งบานในใจของทั้งคู่
เออ ไปๆ มาๆ เราว่าไอ้หนังเงียบที่ไม่มีบทพูด มีแต่ภาษามือ และอวัจนภาษาต่างๆ อย่าง The Tribe เนี่ย กลับถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกให้คนดูได้ดีกว่าหนังที่มีบทพูดยาวๆ หรือเพลงประกอบเยอะๆ หลายๆ เรื่องเสียอีก
Actions can speak louder than words.
ในความยาวสองชั่วโมงเศษ มีโลเกชั่นหลักๆ อยู่ไม่กี่ที่ และเราจะเห็นเด็กๆ ใช้ชีวิตในคลาสเรียนแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น (ในช่วงเปิดเรื่อง มีเรียนวิชาภูมิศาสตร์) นอกนั้น 95% ของเรื่องเต็มไปด้วยความดาร์ค ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
ตอนแรกคิดตื้นๆ ไว้ว่า 20+ นี่จะต้องมาแนวขายเซ็กส์หรือขายนู้ดแน่ๆ (ดูจากโปสเตอร์น่ะนะ) แต่เอาเข้าจริง ถึงแม้จะเปลือยล่อนจ้อน ชนิดเห็นหมดทั้งบนล่างทั้งหญิงชาย แต่หนังก็ไม่ได้เอากันทั้งเรื่อง และก็ไม่ได้ปลุกอารมณ์เลยแม้แต่น้อย เราว่า The Tribe มันเน้นเล่าด้านมืดของสังคมวัยรุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กส์อย่างเดียว ความ 20+ ของหนังตกไปที่ความรุนแรงอื่นๆ มากกว่า คือบางฉากนี่หนักจริง ถ้าใจไม่ถึง อย่าดู
จุดเด่นของหนัง นอกจากจะใช้ภาษาใบ้ทั้งเรื่องแล้ว ก็คือการถ่ายแบบ long take แบบสมจริงจริง ตลอดทั้งเรื่องใช้การตัดต่อเพียงแค่ 34 ครั้งเท่านั้น แม้กระทั่งฉากมีเพศสัมพันธ์ของพระนาง (นางเอกเลิกกับแฟนในชีวิตจริงเพื่อมารับบทนี้เลย คิดดู)
ฉากจะมีเพศสัมพันธ์กัน กล้องมันก็ stalk พระนางตั้งแต่เดินอยู่ริมถนน จนเข้าไปในที่ลับรโหฐานแคบๆ จนกระทั่งถอดเสื้อผ้า และค่อยๆ กระทำกิจตั้งแต่ต้น จนเสร็จกิจ หรือแม้แต่ไปทำธุรกรรมที่สถานที่ราชการ กล้องมันก็จะถ่ายตั้งแต่รถจอด คนเดินเข้าไปในตึก แช่ตอนคนคุยธุระกับเจ้าหน้าที่อยู่อย่างนั้นจนเสร็จ แล้วออกมาขึ้นรถ (เออ เพราะอย่างนี้ไง หนังมันเลยยาวเกินความจำเป็น)
อื้ม ฟังดูน่าเบื่อสินะ แต่ถ้าได้ดูจริงๆ มันโอเค บางซีนก็ยาวไปจริงๆ แต่มันก็เป็นเอกลักษณ์ของมัน มีเสน่ห์ดี แบบนี้ก็อารมณ์ต่อเนื่องดี ปกติจะเจอแต่หนังที่แบบ… พระนางจูบกัน เล้าโลม เอนตัว ปิดไฟ ตัดจบ ไฟมาอีกทีก็เช้าเลย ความอินมันต่างกัน
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ เราสนใจที่หนังเขาพยายามคุมโทนสีฟ้า ไม่ว่าจะเป็นผนังหอพัก รถที่ใช้ค้ามนุษย์ ผ้าปูที่นอน ฯลฯ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าแปลว่าอะไรลึกซึ้งหรือเปล่า… หรือแค่เอาสีฟ้าเข้ามาช่วย calm หรือ relax คนดูจากความตึงเครียดของหนัง?
แต่อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า Blue ไม่ได้แปลว่าสีฟ้าอย่างเดียวในภาษาอังกฤษ หากแต่แปลว่า melancholy, sad, หรือ depressed ได้ด้วย ในขณะเดียวกัน สำหรับชาวคริสต์บางกลุ่ม สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของ the sin of lust อีกด้วย
BLUE symbolizes trust, loyalty, wisdom, confidence, intelligence, faith, truth, and heaven. Blue is considered beneficial to the mind and body. (www.color-wheel-pro.com/color-meaning.html)Blue relates to one-to-one verbal communication and self expression. (http://www.empower-yourself-with-color-psychology.com/color-blue.html)
เออ ที่สังเกตเห็นอีกสิ่งก็คือ ทำไมชอบเข้าฉากกันในห้องน้ำ โดยเฉพาะฉากรุนแรงๆ โดยแต่ละครั้งก็ใช่ห้องน้ำคนละห้องคนละที่แตกต่างกันไปด้วยกัน นี่ก็ไม่รู้เช่นกันว่าส้วมจะสื่ออะไรด้วยมั้ย เครียดเกินกว่าจะคิดเยอะละ
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ที่อยากจะชมคือ เราชอบชื่อไทยของ The Tribe ที่ใช้ชื่อว่า “เงียบอันตราย” เพราะรู้สึกว่า คำว่า “เงียบอันตราย” มันตรงประเด็น ครอบคลุมธีมของหนัง โดยไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย (ปกติคนไทยชอบเอาหนังฝรั่งมาตั้งชื่อไทยใหม่แปลกๆ เวิ่นๆ นึกออกปะ)
ในหนังจะมีฉากตลกร้าย หรือฉากที่แสดงให้เราเห็นอันตรายของ “โลกเงียบๆ” ของพวกเขา เวลามีภัยเข้ามาใกล้ตัว เราจะไม่ได้ยินเสียงหรือสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า หรือถ้าเราถูกข่มขืน เราก็ไม่สามารถร้องให้ใครช่วยได้ ยิ่งถ้ารูมเมตก็หูหนวกเหมือนกันด้วยแล้ว ต่อให้โดนโยกจนเตียงสะท้านส่งเสียงสะเทือนเลือนสั่นไปถึงชั้นดาดฟ้า รูมเมตก็ไม่ได้ยิน
โดยเฉพาะความ “เงียบอันตราย” ในซีนปิดจบ หรือซีนสุดท้ายนั้น ช็อคมาก มือข้างนึงก็จิกเบาะ มือข้างนึงก็ปิดตา คือช็อคระดับ 8.5 ริกเตอร์ พีคมาก สะเทือนใจจนวินาทีสุดท้ายจริงๆ
โดยสรุป The Tribe เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์การดูหนังแบบใหม่ที่อยากให้ลอง แปลกใหม่ มีสไตล์ ไม่เหมือนใคร สดจริง นำเสนอเรื่องของวัยรุ่นวัย coming-of-age ได้ดาร์คสุดขั้วจริง รุนแรงเหนือความคาดหมาย บีบเค้นหัวใจ ช็อคหนักมาก ดังนั้น หนังอาจจะไม่เหมาะสำหรับทุกคน (ถึงแม้จะล่วงเลยวัย 20+ แล้วก็ตาม)
แต่สำหรับเรา ถึงแม้มันจะไม่ใช่หนังสนุก แต่เราชอบมาก ขอให้คะแนน 8.5/10
The Tribe ฉายจริง 1 ต.ค. เฉพาะโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ฯ
93 comments