หนุ่มหล่อล่ำมีสำเนียง Chris Hemsworth นับเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีหนังเดี่ยวของตัวเองเยอะที่สุดและปรากฏตัวในหนัง Marvel เยอะเรื่องที่สุดคนหนึ่งในจักรวาล เขาแจ้งเกิดครั้งแรกเมื่อ 11 ปีที่แล้วจาก Thor 1 และพาตัวละครลูกเทพเดินทางมาจนถึง Thor 4 หรือ Thor: Love and Thunder
ถึงแม้ Thor 1-2 อาจจะห่างไกลจากคำว่าดี และที่แย่ที่สุดคือ การเอานางเอกระดับออสการ์อย่าง Natalie Portman มาวิ่งไปวิ่งมาได้แค่ในฐานะคนรักของลูกเทพ จนเธอไม่กลับมาใน Thor 3 หรือ Thor: Ragnarok อย่างไรก็ตาม Taika Waititi ผู้กำกับ Thor: Ragnarok มาทำ Thor: Love and Thunder ต่อ โดยกุมบังเหียนทั้งเก้าอี้ผู้กำกับและผู้ร่วมเขียนบท เขาได้ทำให้ Natalie Portman กลับมารับบท Jane Foster หรือ The Mighty Thor ได้ ซึ่งทำให้บทนำหญิงของเธอมีความน่าสนใจมากขึ้น
สำหรับคนที่จำ Thor: Ragnarok ไม่ค่อยได้แล้วและไม่มีเวลาไปดูย้อนหลัง ในหนังภาคนี้เขาได้ช่วย recap ให้ผ่านแก๊งละครเวทีบทบาทสมมติสุดเกรียนแห่ง New Asgard ที่มาเล่าเรื่องราวก่อนหน้าให้แบบเบา ๆ โดย Luke Hemsworth (พี่ชายแท้ ๆ ของ Chris Hemsworth) แสดงเป็น Thor, Matt Damon แสดงเป็น Loki, และ Sam Neil (จาก Jurassic Park) แสดงเป็น Odin
นอกจากนี้ Taika Waititi ยังได้นักแสดงออสการ์อย่าง Christian Bale มารับบท Gorr the God Butcher ตัวร้ายหลักของภาคนี้ หลังจากที่ก่อนหน้า เขาก็คว้านักแสดงออสการ์สองสมัยอย่าง Cate Blanchett มารับบท Hela พี่สาวตัวร้ายของ Thor กับ Loki มาแล้ว ซึ่งบท Gorr คือคนที่ต้องการฆ่าเทพล้างบาง เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยบูชาเทพ แต่สุดท้ายเทพไม่ช่วยเขา ปล่อยให้ลูกสาวของเขา (รับบทโดย ลูกสาวของ Chris Hemsworth ในชีวิตจริง) ต้องอดอยากตาย ดังนั้น ตัวนี้ถือเป็นวายร้ายที่มีมิติและขึ้นแท่นหนึ่งในอริตัวเอกที่ดีที่สุดใน MCU พอ ๆ กับ Killmonger ใน Black Panther เลยทีเดียว
คนที่ขโมยซีนไม่น้อยในภาคนี้คือนักแสดงออสการ์ Russell Crowe ในบท Zeus ผู้ยิ่งใหญ่ ถึงแม้จะออกมาเพียงฉากเดียว แต่คนก็จะจดจำ (อย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะคนเปิดก้น Thor) อีกคนที่ขโมยซีนและเป็นสิ่งน่ารักของภาคนี้คือ Stormbreaker อาวุธคู่ใจคนปัจจุบันของ Thor ที่มีง้อมีงอนกันบ้างหลังจาก Thor กลับมาเจออาวุธคู่ใจคนเก่าอย่าง Mjölnir (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นอาวุธคู่ใจของแฟนเก่าเขาไปแล้ว) และสุดท้าย ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “แพะ” ที่ออกมากี่ซีน ก็เรียกเสียงหัวเราะคนในโรงได้เสมอ
อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบ นอกจากการเพิ่มพลังหญิงให้ Jane Foster และการใส่มิติให้ Gorr แล้ว หนังยังชูจุดยืนเรื่องความหลากหลายทางเพศชัดเจนมากขึ้น เช่น Valkyrie ดำรงตำแหน่ง King ของ New Asgard อย่างเต็มตัว และมีบทสนทนาเกี่ยวกับแฟนสาวของ Valkyrie (Tessa Thompson) อย่างเปิดเผย อีกทั้งมีการพูดถึง Korg (Taika Waititi) ว่าเกิดจากพ่อและพ่อ เช่นเดียวกับ America เด็กสาวใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness ที่เกิดจากแม่และแม่ ทั้งหมดนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ Disney เลยก็ว่าได้
ประเด็นเรื่องเทพและเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า Thor: Love and Thunder เป็นหนังเดี่ยว Thor ที่ดีที่สุดสำหรับเรา โดยเฉพาะการทำเทพให้เป็นเสมือนมนุษย์คนหนึ่ง มีรักโลภโกรธหลงและดีชั่ว ไม่ใช่ว่าเทพทุกคนจะเมตตาหรือห่วงใยชีวิตประชาชนคนเบื้องล่าง คนข้างล่างจะลำบากและสวดอ้อนวอนอย่างไรเทพไม่สน เทพขอเอาตัวเองอยู่รอดอยู่สบายไว้ก่อน (อันนี้ขนาดระดับเทพเลยนะ ไม่ต้องพูดถึงสมมติเทพ หรือพวกที่แทนตัวเองว่าเป็นเทพเป็นเจ้า)
สิ่งที่เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในเวลาเดียวกันคือ Thor: Love and Thunder มีความเกรียนและกาวตามส่วนผสมของ Taika Waititi (แค่ Thor คนเดียวก็เกรียนอยู่แล้ว และพอช่วงแรกของหนัง มันมีแก๊ง Guardians of the Galaxy ร่วมด้วย มันเลยเป็นแก๊งสามช่า) ลึก ๆ เราจะขัดแย้งในใจอยู่บ้างว่า Thor มันอยู่มาเป็นพันปี มันควรจะสุขุมเหมือนปู่คนหนึ่งมากกว่านี้หรือเปล่า แต่สุดท้ายเราก็ช่างมัน และพอใช้สมองน้อยลง เราก็ enjoy กับความเกรียนและกาวโดยปริยาย ประกอบกับเรื่องความรักที่เป็นหนึ่งในธีมสำคัญของภาคนี้ ทำให้ Thor: Love and Thunder กลายเป็นหนังรอมคอมเรื่องหนึ่งที่มีฉากแอ็คชั่น อาจเพราะช่วงนี้เราทำงานเหนื่อยหลายวันติดกันด้วย พอได้ดูหนังแบบนี้โดยไม่คิดอะไรมาก มันก็บันเทิงและผ่อนคลายดีเอาเรื่องอยู่