วันก่อนเราสอนให้เด็กเขียน essay หัวข้อประมาณว่า Why we have learned nothing from history โดยต้นคาบจะ brainstorming ideas กันก่อน นักเรียนทั้ง 7 ของครูขวัญ จ้องกระดานด้วยสายตาว่างเปล่ากันอยู่หลายนาที รอคอย “ใครก็ได้” ในห้องคิดได้และอ้าปากตอบ ตัวเองรอจดอย่างนิ่งเงียบ เราไม่อยากให้เสียเวลานานกับขั้นตอนนี้ เพราะยังมีอีกหลาย topics ให้คิด และยังต้องฝึกเขียนจริงด้วยอีก เราจึงช่วยสะกิดความคิดให้นักเรียน
“ตั้งแต่ม.1 จนถึงเทอมนี้ (ม.6 เทอม 1) วิชา History ที่รร. สอนเนื้อหาเรื่องอะไรบ้าง?”
แต่ละคนดูทำหน้ามึนกว่าเดิม ส่วนใหญ่ก็ตอบอย่างงงๆ ไม่แน่ใจในสิ่งที่เคยเรียนเคยร่ำ จำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง แล้วก็มีนร.คนนึงพูดขึ้นว่า “จำได้แต่พระนเรศวรฯ กับสุริโยทัย” และนร.คนอื่นๆ ในคลาสก็เออออเห็นด้วย พยักหน้ากันใหญ่
เราเลยถามต่อ ทั้งที่รู้คำตอบของพวกเขาดีอยู่แล้ว ว่า… “ทำไมจำได้แค่สองเรื่องนี้เองล่ะคะ?” และก็ตามที่คาด เด็กตอบเราว่า “เพราะมันเคยทำเป็นหนัง”
อืม… เห็นได้ชัดว่า mass media มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์เผยแพร่ history & culture ได้จริงๆ
เราถามเด็กต่อไปอีกว่า “แล้วทำไมพอทำเป็นหนัง เราจำเนื้อหาเขาได้ แต่ที่เรียนในห้องแทบตาย เรากลับจำไม่ได้ล่ะ?” เด็กเริ่มส่งเสียงแย่งกันตอบมากขึ้น บ้างก็บอกว่า เพราะหนังมันเห็นภาพบ้างล่ะ เพราะหนังมันนำเสนอน่าสนใจกว่าบ้างล่ะ ฯลฯ
ทีนี้ เราเลยตบเข้าคำถามสุดท้ายว่า “อ้าว ถ้าอย่างนั้น หนูกำลังจะบอกว่า ประวัติศาสตร์ที่หนูอ่านในตำราหรือนั่งเรียนกันในห้อง มันไม่สนุก มันไม่น่าสนใจหรอคะ?” เด็กทุกคนตอบทันทีว่า “ใช่”
“นี่ไง ได้คำตอบไปเขียนแล้ว 1 body paragraph” เราบอก แต่ทุกคนยังคงทำหน้างง ร้อง “ห้ะ? ได้แล้วหรอ?”
กว่าจะร้อง “อ๋อ” กันได้จริงๆ เราก็ต้องบอกทั้งหมดว่า “นี่ไง หนูได้คำตอบแล้วข้อนึง ว่าทำไมเราถึงไม่ได้อะไรเลยจากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เพราะการเรียนวิชานี้ในห้องหรือเนื้อหาในหนังสือมันน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ มันไม่สนุก…”
กว่าจะเก๊ตกันได้ ครูนี่ปาดเหงื่อไปหลายรอบ ทั้งๆ ที่สอนอยู่ในห้องแอร์ฯ อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาฯ
คือมันน่าเสียดายนะ เพราะบางทีเขาก็รู้อยู่แล้ว แต่แค่ไม่รู้ตัว ว่าตัวเองรู้อยู่แล้ว (แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่หนักเท่า คนที่ไม่รู้ แต่สำคัญตัว ว่าตัวรู้แล้ว)
จากการ brainstorm ครั้งนั้นเอง ทำให้เรายิ่งเห็นได้ชัดว่า ปัญหาของเด็กไทย “ไม่ใช่ไม่รู้” บางทีเด็กก็รู้แต่แค่คิดไม่ได้ หรือไม่ก็คิดไม่เป็น และต้องการครูที่ดีช่วยจุดประกายความคิดให้กับเขา
ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า ครูดีๆ ที่ว่านั้น มีเพียงพอแล้วหรือยัง…
สนใจเรียน writing essay กับครูขวัญ ดูคอร์สได้ที่ http://kwanmanie.com/writing-course-2015/
47 comments