“X+Y : เธอ+ฉัน=เรา” เรื่องราวของเด็กออทิสทิกที่มีปั
เรื่องย่อ X+Y
Nathan Ellis (Asa Butterfield จาก Hugo และ Ender’s Game) เกิดมาเป็นเด็ก Autistic อ่อนๆ มีปัญหากับการเข้าสังคม แต่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์สูงมาก ในวัยเด็ก Nathan สนิทกับ Michael พ่อของเขา (Martin McCann) คนเดียว พอพ่อเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ Julie ผู้เป็นแม่ (Sally Hawkins) จึงต้องเลี้ยงดู Nathan ตัวคนเดียวอย่างยากลำบาก เพราะเธอไม่สามารถเข้าถึงลูกชายซึ่งเป็นเด็กพิเศษได้เลย
เนื่องจาก Nathan ชอบและมีพรสวรรค์ทางคณิตศาสตร์แต่เล็ก Julie จึงพาไปฝากให้อดีตอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันเพราะปัญหาสุขภาพ อย่างครู Humphreys (Rafe Spall) ให้ช่วยติวเลขให้ Nathan แบบตัวต่อตัว ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ดูไปได้สวย เพราะ Nathan ดูเปิดใจกับครู Humphreys และดูสื่อสารกันรู้เรื่องกว่าที่ Nathan สื่อสารกับแม่
พออายุ 16 ปี Nathan สอบติดและได้ไปเข้าค่ายคณิตศาสตร์โอลิมปิก (IMO) โดยมี Richard (Eddie Marsan) อดีตคู่ปรับของครู Humphreys เป็นครูพี่เลี้ยงตลอดการเข้าค่ายที่ไทเป Nathan ได้เจอเพื่อน “Mathlete” ร่วมทีมชาติอังกฤษเก่งๆ อีกหลายคน ได้แก่ Isaac (Alex Lawther หรือ Alan Turing วัยเด็กจาก The Imitation Game), Luke (Jake Davies), Rebecca (Alexa Davies) ฯลฯ
ระหว่างเข้าค่าย Nathan ได้เป็นบัดดี้กับ Zhang Mei (Jo Yang) สาวไต้หวันผู้ซึ่งต่อมาทำให้เขาได้ค้นพบกับสิ่งที่สวยงามและสำคัญเหนือกว่าคณิตศาสตร์ นั่นก็คือ “ความรัก”
รีวิว วิจารณ์ วิเคราะห์ X+Y
อย่างที่เราได้เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่า X+Y ไม่ใช่แค่หนังรักวัยรุ่นทั่วไป หากแต่เป็นหนังดราม่าเบาๆ ที่มีเนื้อหาถ่ายทอดชีวิตความสัมพันธ์ทั่วไป ความรัก ครอบครัว และคนชายขอบ รวมถึงความฝันและความสำเร็จของคนคนหนึ่ง โดยภาพรวม X+Y เป็นหนังที่ดีงามเหนือกว่าที่คาดมาก ทั้งในแง่ของเนื้อหาสาระ และการแสดงของ Asa Butterfield กับ Sally Hawkins
Asa Butterfield แจ้งเกิดจากหนังออสการ์ภาพสวยเรื่อง Hugo (2011) และ Ender’s Game (2013) กับความสามารถทางการแสดงที่โดดเด่นเกินอายุ บวกกับหน้าตาน่ารักน่าชังเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะนัยน์ตาสีฟ้าชวนมองของเขา สำหรับเรื่อง X+Y เจ้าหนุ่มน้อยวัย 17 ย่าง 18 คนนี้ ได้รับบทที่ท้าทายความสามารถ คือบท Nathan เด็กอัจฉริยะผู้ป่วยเป็นโรคออทิสทิก
ซึ่ง Butterfield แสดงได้สมบทบาทมาก ทั้งท่าทาง สีหน้า แววตา และน้ำเสียง เขาทำให้คนดูเชื่อสนิทใจว่าเขาป่วยและมีปมจริงๆ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตในวงการของเขาคนนี้ต้องไปได้อีกไกลแน่นอน (สำหรับเรื่องนี้เราให้เกรด A- เลย)
โดย Asa Butterfield ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบท Nathan ไว้ว่า “เรื่องนี้เป็นอะไรที่น่าท้
ความน่าเห็นใจของเด็ก Authistic อย่าง Nathan และ Luke คือพวกเขาต้องพยายามมากกว่าคนปกติที่จะสื่อสาร อธิบาย หรือสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ถึงแม้เขาจะไม่ถึงขั้นปัญญาอ่อน แต่คนทั่วไปจะมองว่าเขาเป็น “เด็กไม่ปกติ” และเขาก็รู้ตัวว่าเขาเป็น “เด็กพิเศษ” ซึ่งไม่ว่าจะเป็น “เด็กพิเศษ” หรือ “เด็กไม่ปกติ” มันก็คือเขา “แตกต่าง” หรือ “ไม่เหมือน” คนอื่นอยู่ดี ซึ่งพ่อแม่ก็ต้องพยายามประคบประหงมเด็กของเขาให้มากกว่าเด็กปกติ
ในการดำรงชีวิตปกตินั้น Nathan ยังทำได้ไม่แย่เท่าไหร่ เพราะเขาจะแก้ปัญหาไปวันๆ โดยการพยายามทำตัวเป็นเต่าในกระดอง หลบหลีกทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองโดดเด่นหรือเป็นที่สนใจทั้งในทางบวกและทางลบ
ตรงกันข้ามกับ Luke ที่จะพยายามทำตัวเองให้คนอื่นสนใจและเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ ซึ่งบางครั้งมันก็กลายเป็น “เยอะ” และ “แย่” ในสายตาคนอื่นยิ่งกว่าที่เขาควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในกลุ่ม IMO มีเด็กเนิร์ดอย่าง Isaac ที่ชอบทำตัวเองให้ป็อปปูล่าร์โดยการพูดหรือทำให้คนอื่นดูด้อยกว่าตัวเขาเองอยู่ด้วย (เชื่อว่าทุกชั้นเรียนในทุกโรงเรียนมีเด็กประเภททั้งหลายนี้อยู่ครบทั้งนั้น)
“If beauty is truth, and truth is beauty, well, then surely mathematics is the most beautiful thing of all.”
คนปกติอย่างเราควรรู้ก่อนว่า “คนชายขอบ” อย่าง Nathan หรือ Luke ควรได้รับการ “เข้าใจ” ไม่น้อยไปกว่าการ “เอาใจ” ทั้งนี้เราหมายรวมถึงคนชายขอบประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น คนชรา คนพิการ หรือเพศที่สาม เราต้องไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวประหลาด เพราะความรู้สึกแบบนั้นอาจไปจำกัดขีดศักยภาพและความสุขของเขาได้ (คนที่เคยดู The Imitation Game มาเมื่อเร็วๆ นี้ก็คงเห็นภาพชัดขึ้น)
อย่าง Nathan เขามาแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกเพราะเขารักมันเหนือสิ่งอื่นใดบนโลก คณิตศาสตร์เป็นทั้งชีวิต จิตวิญญาณ และหัวใจของเขาเลยก็ว่าได้ มิหนำซ้ำการได้มาอยู่ในค่ายเนิร์ดแห่งนี้ มันยังทำให้เขารู้สึกว่าตัวเอง “แปลก” น้อยลงอีกด้วย แบบว่า เขารู้สึกว่าอยู่ที่นี่ความพิเศษของเขานั้นเป็น “mean” (ณ ที่นี้ อยากจะแปลว่าค่าเฉลี่ยหรือแปลว่ามีความหมายก็ได้ ไม่ว่ากัน)
แต่สำหรับ Luke เขาไม่ได้ชอบคณิตเลยแม้แต่น้อย แต่เขาต้องพยายามทำให้คนอื่นเห็นความสามารถหรือความสำเร็จของเขาสักทาง เพราะถ้าเขาไม่ได้เหรียญโอลิมปิก เขาก็จะกลับไปเป็นแค่ไอ้ตัวประหลาดของสังคม (If he’s not gifted, that just leaves him nothing but weird.)
ซึ่งหนังถ่ายทอดจุดนี้ออกมาได้ดีมาก หนังทำให้ Luke ในสายตาคนดูเป็นคนประหลาดและน่ารำคาญมาตลอดเรื่อง จนกระทั่งถึงนาทีที่หนังทำให้เรา “เข้าใจ” เขาจริงๆ เราจึงเสียน้ำตาให้กับเขาอย่างไม่ทันตั้งตัว
If he’s not gifted, that just leaves him nothing but weird.
คนที่น่าสงสารไม่น้อยไปกว่าตัวละคร Autistic ในเรื่องก็คือ คนรอบข้างที่รักและแคร์เด็กพิเศษเหล่านี้นี่แหละ ในเรื่องนี้ เราว่าคนที่น่าสงสารที่สุดก็คือ Julie แม่ของ Nathan เพราะเธอพยายามเติมเต็มและทำให้ลูกทุกอย่าง แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน Nathan ก็ไม่เคยเข้าใจความรักที่เธอพยายามหยิบยื่นให้
เธอกับลูกสื่อสารกันคนละภาษา เพราะเธอไม่เข้าใจคณิตศาสตร์เหมือนอย่างเขา เขาจึงไม่เปิดใจให้เธอเหมือนตอนคุยกับพ่อ กับครู หรือกับ Zhang Mei อย่างที่เราเห็นในเทรลเลอร์ จะมีฉากนึงที่ Nathan บอกว่าแม่ “ไม่ฉลาดพอ” ที่จะสอนการบ้านเลขเขา โห พูดเลยว่า จุกแทน
ซึ่งทุกฉาก ทุกซีนอารมณ์ Sally Hawkins ถ่ายทอดปัญหาของความเป็นแม่ของเด็กมีปัญหาออกมาได้ดีมาก อินตามจนน้ำตาไหล เห็นใจนางตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องจริงจัง
สำหรับคนบางคน (หรืออาจจะทุกคนด้วยซ้ำ) ถ้าเราอยากจะให้สาร หรือความคิดความรู้สึกของเรา มันเข้าไปถึงหัวใจของเขา เราก็ต้องพูดภาษาเดียวกับเขา เช่น ระหว่าง Nathan กับ แม่ แม่ก็ต้องเป็นฝ่ายพยายามเรียนรู้และใช้ภาษาเนิร์ดคุยกับ Nathan
ส่วนระหว่าง Nathan กับ Zhang Mei ทั้งคู่ไม่มีปัญหาคณิตกันอยู่แล้ว แต่ตามหลักแล้วก็ควรจะมีปัญหาทางภาษาแม่กันบ้าง เพราะต่างเชื้อชาติกัน แต่โชคดีที่ Zhang Mei พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง และ Nathan ก็พอพูดภาษาจีนได้บ้าง เราจะเห็นตอน Nathan พูดภาษาจีนครั้งแรก Zhang Mei ดูดีใจมาก และเริ่มชอบ Nathan มากขึ้นตั้งแต่ประโยค “I’m hot.” (นี่ยังไม่นับที่ Nathan กับ Rebecca สื่อสารกันผ่านภาษาดนตรีเข้าใจอีกนะ)
จากจุดนี้มันทำให้เราเห็นความสำคัญของภาษาที่สามมากขึ้น และนึกถึง quote นึงของ Nelson Mandela ที่กล่าวว่า “If you talk to a man in a language he understands, that goes to his head. If you talk to him in his language, that goes to his heart.” เพราะกับ Nathan ในเรื่อง X+Y นี้ มันจริงแบบเห็นภาพชัดมากๆ
“If you talk to a man in a language he understands, that goes to his head. If you talk to him in his language, that goes to his heart.”
คนชายขอบอีกคนของเรื่องคือครู Humphreys เขาเป็นตัวแทนของคนชายขอบที่อยู่ในรูปของคนกึ่งพิการ สมัยที่เขายังเป็น “เด็กปกติ” เขาเก่งคณิตศาสตร์มาก (จริงๆ ตอนนี้ก็ยังเก่งอยู่แหละ) เก่งถึงขนาดได้ไปแข่งโอลิมปิกเช่นเดียวกับ Nathan ตอนนี้เลย แต่พอประสบปัญหาสุขภาพ เขาก็ยอมแพ้และรู้สึกหมดหวังหมดกำลังใจที่จะทำตามความฝันต่อ เขาเริ่มทำตัวเหลวไหล ไม่เอาไหน และใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แทนที่จะทำตัวแบบ Stephen Hawking
คนที่ได้ดู The Theory of Everything หรือคนที่รู้จัก Stephen Hawking ก็คงจะเห็นว่า เขาเจ็บป่วยหนักมาก แต่เขาก็สามารถผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จได้สูงกว่าคนสมบูรณ์พร้อมทั่วไปเสียอีก ความสำเร็จของ Hawking เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนชายขอบ ที่พอประสบความสำเร็จปุ๊บ คนก็ไม่มองเขาแปลกแยกหรือเป็นคนไร้ค่าของสังคม
นอกจากนี้ Hawking ยังทำให้พวกเราได้เห็นด้วยว่า การเจ็บป่วยหรือปัญหาส่วนตัวใดใด มันไม่ใช่ข้ออ้างของการไม่พยายามประสบความสำเร็จ เพราะทุกคนเกิดมาล้วนมีปัญหาส่วนตัวเล็กใหญ่กันทั้งนั้น อยู่ที่ตัวเราเองต่างหากว่าจะเป็น fighter หรือจะเป็น loser
“Sometimes we have to do the things we don’t like to do.”
เราชอบประโยคที่ครู Richard พูดกับ Nathan ว่า “If beauty is truth, and truth is beauty, well, then surely mathematics is the most beautiful thing of all.” แต่ก็ได้แค่ชอบนะ รู้สึกว่ามันคมและลึกซึ้งดี แต่ไม่ได้เข้าใจอะไรนักหรอก เพราะสำหรับเรา คณิตศาสตร์ถือเป็นของแสลง แค่เห็นตัวเลขก็ผื่นขึ้นละ (แพ้ – คัน)
แต่อย่างไรก็ดี ถึงจะเกลียดคณิตยังไงก็หนีมันไม่พ้นสักที ก็คงเป็นไปตามที่ครู Humphreys พูดกับ Nathan (วัยเด็ก) นั่นแหละว่า “Sometimes we have to do the things we don’t like to do.”
ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าว่าแต่คณิตศาสตร์เลยที่เราไม่เข้าใจ แม้แต่ความรัก เราก็ไม่เข้าใจมันพอๆ กับ Nathan ซึ่งเป็นโรคออทิสทิกไม่เข้าใจเนี่ยแหละ แต่ตอนนี้เราก็กำลังพยายามเข้าใจนะว่า ความรักมันก็อาจจะเหมือนคณิตศาสตร์ก็ได้ คือมันอาจจะมีสูตร มีสมการ หรือมีทฤษฎี แบบคณิตศาสตร์อันซับซ้อน คือมันจริง และมันก็คงสวยงาม แต่แค่มันยังไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเข้าใจหรือจะพยายามเข้าใจมัน
“When somebody says they love you it means they see something in you they think is worth something… It adds value to you.”
แต่ถ้าความรักมันเป็นอย่างที่ Julie อธิบาย Nathan ว่า “When somebody says they love you it means they see something in you they think is worth something… It adds value to you.” ทุกวันนี้เราก็ยังไม่เจอความรักแบบ Nathan กับ Zhang Mei เพราะยังไม่มีใครเห็น something ในตัวเรา และมาเพิ่ม value ให้ตัวเรา
จริงๆ ตอนนี้เรารู้สึกว่าตัวเองมีพร้อมนะ มีเงินพอกินพอใช้ และได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก (เออ ภาษา ไม่ใช่คณิต) แต่ก็ยังรู้สึก “ไม่เต็ม” อย่างบอกไม่ถูก เหมือนเรายังต้องการใครสักคนที่จูนกันติดและสื่อสารภาษาเดียวกันกับเราได้โดยไม่ต้องพยายาม (ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายถึงภาษาไทย)
เราได้แต่หวังว่า วันนึงคงมีใครสักคนเดินเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจ และทำให้เรารู้จักหรือเข้าใจความรัก เหมือนที่ Zhang Mei เข้ามาบวกในชีวิตของ Nathan ซึ่งเข้ามาเติม “ช่องว่างที่หายไป” ของเขาให้สมบูรณ์
และในที่สุด Nathan ก็ได้พบกับสื่งที่สำคัญในชีวิตมากกว่าคณิตฯ สักที…
**คะแนนความชอบส่วนตัว: 8.5/10 (B+)**
“ความรัก” ต้องใช้ “หัวใจ” หรือ “สมการ”?!? มาพิสูจน์พร้อมกัน 26 มีนาคมนี้ ทุกโรงภาพยนตร์
122 comments